ยุทธศาสตร์อาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก

Experts pool

Columnist

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

Tag

ยุทธศาสตร์อาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก

Date Time: 11 ต.ค. 2567 18:46 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลโลกปัจจุบันมีมูลค่าปีละ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 61% ของตลาดฮาลาลโลกที่มีมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว สศอ.ได้ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2570 และในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าอาหารทั่วไป

Latest


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจตามแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในอาเซียน ได้จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (ปี 2567 - 2570) ในปี 2567 (Quick Win)

โดยขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อาทิ แผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Kick Off) ในงาน Halal Inspirium เป็นการเปิดตัว “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” มีการจัดแสดงสินค้าและบริการฮาลาลไทย จากผู้ประกอบการไทย จำนวน 40 บูธ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเชิญคู่ค้าที่สนใจเข้าร่วมงาน 37 บริษัท เกิดการจับคู่ธุรกิจ 139 คู่เจรจา รวมมูลค่าการค้า 88.7 ล้านบาท

“เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลโลกปัจจุบันมีมูลค่าปีละ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 61% ของตลาดฮาลาลโลกที่มีมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว”

สศอ.ได้ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2570 และในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าอาหารทั่วไป ตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่จะเพิ่มขึ้น โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดอาหารฮาลาลโลก ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศ Non-Muslim Country โดยมีอินเดีย บราซิล จีน และสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาด สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก แต่สัดส่วนในการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยยังค่อนข้างต่ำ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2.70% ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ดังนั้น สศอ. จึงจะจัดทำโครงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจแปรรูปอาหารฮาลาลไปสู่การยกระดับมาตรฐานการผลิตในระดับสากล

แผนงานดังกล่าว จะเน้นการจัดทำต้นแบบแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง อาหารสด การแปรรูป ไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพแต่ละภูมิภาคทั่วโลก

โดยใช้จุดแข็งของอัตลักษณ์อาหารไทย จนสามารถผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกสู่ตลาดสากล และผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกได้ภายในปี 2570

สำหรับแผนงานที่จะดำเนินการ อาทิ สำรวจและประเมินศักยภาพตลาดอาหารฮาลาลในต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ทราบศักยภาพตลาดอาหารฮาลาลในภูมิภาคต่างๆ รองรับการส่งออกอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) ของไทย, จัดทำแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

  1. คู่มือสำหรับอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน
  2. คู่มือเครื่องปรุงและซอสปรุงรส
  3. คู่มือโรงเชือดสัตว์และชำแหละเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแปรรูปต้นแบบ รูปแบบ Future Food ประเภท Functional Food หรืออาหารเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่ดำเนินการสำเร็จแล้วทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ อาทิเส้นโปรตีนไข่ผำซอสแกงคั่วเห็ดแครง เครื่องดื่มรังนกแพลนต์เบสผสมสมุนไพร กาแฟเมล็ดอินทผลัมผสมคาเคานิบส์ ชีสแพลนต์เบส สูตรคีโต แกงเลียงซุปเปอร์ฟู้ด ซอสไก่กอและผง สูตรลังกาสุกะ แกงมัสมั่นเนื้อโคขุน สูตรปักษ์ใต้

ล่าสุด การดำเนินโครงการในปีนี้ ในภาพรวมสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้สูงถึง 335 ล้านบาท และในปีหน้า ก็มีแผนพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมฮาลาลเพิ่มเติม อาทิ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit)

ประกอบด้วยฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการครอบคลุมในทุกมิติ เร่งขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Future Food) อาทิ อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นฮาลาล โดยมุ่งเน้นด้านการออกแบบ เชื่อมโยงเอกลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง เป็นต้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ