ถึงเวลา รื้อค่าเช่าที่ดิน “แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ”

Experts pool

Columnist

Tag

ถึงเวลา รื้อค่าเช่าที่ดิน “แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ”

Date Time: 12 ก.ค. 2567 18:11 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ที่ดินทำเลทองกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลพระพรหมเอราวัณ และโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นี้ รัฐบาล มอบให้ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการพิทักษ์ผลประโยชน์ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 100 % และสหโรงแรมไทยฯ ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท อัมรินทร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด เช่าที่ดินบริเวณนี้ มีผลมาตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2534 โดยมีระยะสัญญาเช่า 30 ปี โดยให้มีการปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ปี ขณะนี้สัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว และมีการต่อสัญญาเป็นแบบลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปีต่อปี

Latest


เมื่อเอ่ยชื่อ “โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ” หลายคนรู้จัก แต่หลายคนอาจไม่รู้จัก และไม่คุ้นชื่อ แต่หากบอกว่า “แยกพระพรหม เอราวัณ” ทุกคนจะร้องอ๋อ เพราะเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติ และเคยไปกราบสักการะพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์

แต่ ณ ที่แห่งนี้ บนเนื้อที่เกือบ 10 ไร่ น้อยคนที่จะรู้ว่า เป็นที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งในยุคสมัยที่นานมากแล้วนั้น ที่ต้องการให้ที่แห่งนี้มีการสร้างโรงแรม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ทำอย่างไรการก่อสร้างหรือการทำธุรกิจก็ไม่สำเร็จ จึงมีการทักท้วงให้กราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการประกอบพิธีขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ บริเวณนี้ พร้อมทำพิธีตั้งศาลพระพรหม และอยู่มาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ 

สำหรับที่ดินทำเลทองกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลพระพรหมเอราวัณ และโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นี้ รัฐบาล มอบให้ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการพิทักษ์ผลประโยชน์ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 100% และสหโรงแรมไทยฯ ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท อัมรินทร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด เช่าที่ดินบริเวณนี้ มีผลมาตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2534 โดยมีระยะสัญญาเช่า 30 ปี ให้มีการปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ปี ดังนี้

  • 10 ปีแรก (ปี 2534-1ก.ค.2544) ค่าเช่าอยู่ที่ 7 ล้านบาทต่อปี 
  • ช่วงที่2 (2 ก.ค.2544-1ก.ค.2554) ค่าเช่า 10.92 ล้านบาทต่อปี 
  • ช่วงที่ 3 (2ก.ค.2554-1ก.ค.2564) ค่าเช่าปีละ 14.12 ล้านบาท 

และขณะนี้สัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว และมีการต่อสัญญาเป็นแบบลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปีต่อปี

โดยการร่วมทุนในขณะนั้น เป็นการร่วมทุนระหว่างสหโรงแรม กับภาคเอกชน คือ บริษัท อัมรินทร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีผู้ก่อตั้งมาจาก 3 ตระกูลหลัก คือ กลุ่มตระกูลว่องกุศลกิจ กลุ่มตระกูลวัธนเวคิน และกลุ่มตระกูลเจนวัฒนวิทย์ ตั้งชื่อบริษัทมาบริหารจัดการกิจการ ชื่อ บริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด 

แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายต่อหลายครั้งมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ จนปัจจุบันผู้บริหารกิจการโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ และอีกหลายโรงแรมทั่วประเทศไทย คือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

และเมื่อเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัทสหโรงแรมและการท่องเที่ยว และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ไปเร่งหารือการดำเนินการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะราคาที่ดินบริเวณนี้ มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

ขณะที่รัฐได้ผลตอบแทนจากที่ดินแห่งนี้หลักพันล้านบาท ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นราคาค่าเช่าทุกๆ 10 ปีก็ตาม  

ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้บริษัทสหโรงแรมและการท่องเที่ยว และ ธพส. ไปคิดและวิเคราะห์ ที่จะใช้ที่ดินให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด ทั้งผู้ประมูล ผู้เช่า หรือผู้มาบริหารกิจการโรงแรม ต้องอยู่ต่อได้ ราชการได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม  

และน่าจะถึงเวลาที่รัฐ จะต้องรื้อสัญญาการเช่าที่ดินราชพัสดุของภาคเอกชน ที่หมดสัญญาแล้ว นำกลับมาทบทวนใหม่ให้ราคาเช่าที่ดิน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด โดยนำกรณีของโรงแรม แกรนด์ ไฮเอท มาเป็นกรณีศึกษาได้

ล่าสุด ธพส.ได้เจรจากับบริษัทสหโรงแรมและการท่องเที่ยวแล้ว ได้มีความเห็นร่วมกัน ที่จะจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อมาศึกษาแนวทางการดำเนินการทั้งหมด ใช้ระยะเวลา 4 เดือน จากนั้น ธพส.จะนำเสนอรายละเอียดทั้งหมดให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ คนร.พิจารณา และต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับขั้นตอนต่อไป 

ในเบื้องต้นจะต้องนำผลศึกษาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินมาพิจารณารายละเอียดก่อนว่าแนวทางการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ธพส.กับสหโรงแรมและการท่องเที่ยว ต้องตกลงควบรวมกิจการกันให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อน มิเช่นนั้น การเจรจาจะไม่เกิดผลสำเร็จแต่อย่างใด  

ขณะเดียวกันจะต้องมีการประเมินมูลค่าที่ดินดังกล่าวใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะค่าเช่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

“นาฬิกอติภัค แสงสนิท” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เล่าว่า หลังจากได้รับมอบหมายจาก คนร. ได้เดินหน้าเจรจาหารือกับสหโรงแรมและการท่องเที่ยวมาตลอด เพื่อหาแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งล่าสุดมีความเห็นร่วมกันจะต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมด และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ น่าจะเห็นภาพชัดเจนของการดำเนินการว่าจะไปในทิศทางใด  

“ยอมรับว่าการดำเนินการดังกล่าว ไม่ง่าย ไม่รวดเร็วแน่นอน เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย เนื่องจากสัญญาเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ ธพส.ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจะพยายามทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุดจากที่ดินย่านแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นทำเลทอง ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดธุรกิจเอกชนด้วย ต้องบาลานซ์ให้ได้” นาฬิกอติภัค กล่าว

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ดวงพร อุดมทิพย์

ดวงพร อุดมทิพย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ