เศรษฐกิจและการลงทุนโลกและไทยในภาวะ Mild Stagflation

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

เศรษฐกิจและการลงทุนโลกและไทยในภาวะ Mild Stagflation

Date Time: 1 มิ.ย. 2567 06:32 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Latest


เศรษฐกิจและการลงทุนโลกและไทยในภาวะ Mild Stagflation


ในช่วงต้นปี หลายฝ่ายประหลาดใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่เริ่มประกาศช่วงต้นปีเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูงขณะที่เงินเฟ้อดูเหมือนจะลดลงได้ยากขึ้น ทำให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ลดลง


อย่างไรก็ตาม เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ตัวเลขที่ประกาศออกมาเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. ชะลอเกินคาด โดยออกมาเพียง 1.75 แสนตำแหน่ง ท่ามกลางอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% และใกล้เคียงเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มองในปีนี้ที่ 4% ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตและบริการ วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสถาบัน ISM ลดต่ำลงกว่าคาดกลางที่ 50 จุด โดยดัชนีย่อยสำคัญ เช่น กิจกรรมเศรษฐกิจ จ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่ ชะลอตัวทั้งหมด ส่วนราคาปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จากสำนักวิจัย S&P Global ชะลอลงเช่นกัน ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ 


ในทางกลับกัน เงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูง โดยเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับประมาณ 3.0% ในช่วงต้นปีเป็น 3.5% ในเดือน เม.ย. ขณะที่เงินเฟ้อจากดัชนีราคาของผู้บริโภค (PCE) เร่งตัวขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.7% เป็นผลจากต้นทุนฝั่งภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ


จากแบบจำลองของเราคาดว่า เงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับไปสู่ระดับ 3.7% จากปัจจุบันที่ 3.5% ในอีก 2 เดือนข้างหน้า


ด้วยเงินเฟ้อที่ลดลงยาก ท่ามกลางอัตราว่างงานที่สูงขึ้น (เราคาดว่าเป็นไปได้ที่อัตราการว่างงานจะขึ้นเป็น 4% ในอีก 2เดือนข้างหน้า เมื่อตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ปรับลดลงสู่ 8 ล้านตำแหน่ง จากปัจจุบันที่ประมาณ 8.4 ล้านตำแหน่ง) จะเป็นสัญญาณเศรษฐกิจแบบ Stagflation อ่อน ๆ (หรือการที่เศรษฐกิจชะลอลง แต่เงินเฟ้อสูงขึ้น) ทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยยากขึ้นและจะทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น


ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจยุโรปดูดีขึ้นท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลง โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นผลจากภาคบริการเป็นหลัก โดยประเทศยุโรปใต้ เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจยุโรปขึ้น ส่วนเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเยอรมนียังคงเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ 


แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง (แม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังอ่อนแอกว่าสหรัฐฯ) ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในยุโรปต่ำกว่าสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ลดดอกเบี้ยได้ก่อน (เราคาดว่าทั้งสองธนาคารจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย.) ซึ่งจะเป็นการลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ที่เริ่มลดดอกเบี้ยลงแล้ว ซึ่งดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ลดลงได้ช้ากว่า ECB ทำให้เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินยูโรให้อ่อนค่ามากขึ้นท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์

ด้านเศรษฐกิจของจีนยังคงค่อนข้างเปราะบางและเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด กับดักสภาพคล่อง และวิกฤติอสังหาฯ แต่นักลงทุนหันมาเน้นให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายรัฐที่สนับสนุนแทน 

โดยในส่วนเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอกว่าคาด โดยเฉพาะภาคการบริโภค (ยอดค้าปลีกในเดือน มี.ค. ขยายตัว 3.1% ชะลอจากต้นปีที่ขยายตัว 5.5%) เนื่องจากภาครัฐผลักดันเศรษฐกิจผ่านภาคการส่งออกโดยลดราคาสินค้าส่งออกเพื่อระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้น โดยล่าสุดในเดือน เม.ย. ขยายตัว 1.5% สูงกว่าตลาดคาด ท่ามกลางการนำเข้าที่สูงถึงกว่า 8.4% และเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก บ่งชี้ว่าอาจมีการเร่งผลิตเพื่อส่งออกในระยะต่อไป


ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั้งทางการและสถาบัน Caixin ยังส่งสัญญาณขยายตัวได้ต่อเนื่อง (เกิน 50 จุด) แม้จะชะลอลงกว่าเดือนก่อน ด้านเงินเฟ้อผู้บริโภคยังอยู่ในระดับทรงตัว (เดือนเม.ย.ขยายตัว 0.3%) ท่ามกลางเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง (-2.5% ในเดือน เม.ย.) บ่งชี้ความเสี่ยงเงินฝืดที่ยังคงอยู่ต่อเนื่อง 


แต่ความเสี่ยงสำคัญได้แก่ ภาคการเงินที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ 9.6% ท่ามกลางปริมาณเงินในระบบ (M2) ที่ขยายตัวชะลอลงมาก (7.2%) แต่สินเชื่อตามความหมายกว้าง (Total Social Financing: TSF) หดตัวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประมาณ -2 แสนล้านหยวน ในเดือน เม.ย. บ่งชี้ความเสี่ยงกับดักสภาพคล่อง หรือการที่นโยบายการเงินเป็นอัมพาต โดยการลดดอกเบี้ยหรือผ่อนคลายสภาพคล่องไม่สามารถกระตุ้นให้การกู้ยืมเร่งตัวขึ้นได้


ทางแก้ของภาครัฐคือต้องผลักดันผ่านมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยล่าสุดหลายสำนักข่าวได้รายงานว่า รัฐบาลกลางจีนมีข่าวที่จะเร่งออกพันธบัตรระยะยาว วงเงินรวม 1 ล้านล้านหยวน เพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และจะเป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ท่ามกลางการที่รัฐบาลท้องถิ่นเร่งมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาฯ มากขึ้น โดยรัฐบาลเซินเจิ้นประกาศลดภาษีเงินได้และเงินนำส่งประกันสังคมสำหรับชาวจีนต่างเมืองที่ต้องการซื้ออสังหาฯ ในมณฑล ส่วนรัฐบาลหวู่ฮั่นประกาศลดดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาฯ


ในส่วนของเศรษฐกิจไทย เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดส่งสัญญาณชะลอตัว โดยตัวเลขภาคการบริโภค ลงทุน ใช้จ่ายภาครัฐ ภาคการผลิต และส่งออกหดตัวในเดือน มี.ค. ขณะที่การนำเข้าดีขึ้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเชื้อเพลิง) ทำให้การส่งออกสุทธิเป็นลบ ขณะที่รายได้เกษตรกรฟื้นตัวจากราคาข้าวและปริมาณยางที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณมันสำปะหลัง อ้อย และไม้ผลเช่นทุเรียนแย่ลงจากภาวะภัยแล้ง 


จากตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนดังกล่าว พบว่าหากนำมาคำนวณการเติบโต GDP ในไตรมาสที่ 1/2024 พบว่าจะขยายตัวประมาณ 0% จากการบริโภคที่ขยายตัวเล็กน้อย ลงทุนเอกชนที่ไม่ขยายตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวแรงขึ้น การส่งออกที่หดตัวและการนำเข้าที่ฟื้นตัวแรง ขณะที่จากโมเดลการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่ไตรมาสที่ 1/23 การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยหดตัว -3.6% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6) พบว่าในโมเดลดังกล่าว GDP ไทยไตรมาส 1/2024 จะขยายตัวประมาณ 1.1%  ดังนั้น เราจึงเชื่อว่า GDP ไตรมาส 1 ของไทยจะขยายตัวในกรอบ 0-1% ต่อปี


ถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอลงมากในไตรมาสที่ 1 แต่เรามองว่าหน้าต่างในการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถูกปิดแล้ว โดยเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปเดือน เม.ย. เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 6 เดือนที่ 0.2% ทั้งจากมาตรการรัฐที่เริ่มหมดลงและภัยแล้งที่กระทบสินค้าเกษตร ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในลักษณะนี้เป็นลักษณะ Cost-push ซึ่งจะเป็นเหมือนภาษีและกดดันการใช้จ่ายของประชาชนในระยะต่อไป


แต่ด้วยเงินเฟ้อต่อไปอาจเริ่มเร่งตัวขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังซึมเซา (หรืออาจเรียกได้ว่าไทยก็เผชิญกับภาวะ Mild Stagflation เช่นกัน) การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) ทำให้เรามองว่า ธปท. น่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยมีมากกว่า


ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจฉากหลัง (Economic Backdrop) ดังกล่าว ทำให้เรามีมุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์ดังนี้

(1) เรามีมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระดับ Slightly Overweight จากศักยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ (2) เราปรับมุมมองเป็นกลางถึงลบเล็กน้อยสำหรับการลงทุนในยุโรป จากค่าเงินยูโรที่อ่อน และ Valuation ที่ขึ้นไปสูงมากแล้ว (3) มีมุมมองเป็นกลางกับหุ้นญี่ปุ่น จาก Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นซื้อขายอยู่ในระดับที่สูงใกล้กรอบ +2 Standard Deviation (4) คงมุมมองการลงทุนในจีนขึ้นเป็นบวกเล็กน้อย (Slightly Overweight) หลังทางการส่งสัญญาณในการใช้มาตรการการคลังสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น (5) คงมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นไทยจากระดับราคาที่น่าสนใจ ทำให้ภาพของดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มมี Downside ที่จำกัด (6) มุมมองการลงทุนในเกาหลีใต้สู่ระดับ “เป็นกลาง” หลังวัฏจักรของกลุ่ม Semi-conductor พบว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายของการเติบโต (7) มีมุมมองบวกกับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม โดย มี Valuation ที่ซื้อขายในระดับที่น่าสนใจ และ (8) ในตลาดอินเดียมีมุมมองที่เป็นกลาง หลังราคาในปัจจุบันนั้นพบว่าตอบรับประเด็นการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียมากเกินไป

ขอให้นักลงทุนโชคดี

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 

หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

 

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน 

โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/fmeic0xb

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

 

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้