แรงงานเมียนมาหนีทัพเข้าไทย โอกาสและความเสี่ยง เรื่องต้องคิด

Experts pool

Columnist

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

Tag

แรงงานเมียนมาหนีทัพเข้าไทย โอกาสและความเสี่ยง เรื่องต้องคิด

Date Time: 23 ก.พ. 2567 14:56 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • วิกฤติที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมาทําให้คนหนีข้ามเข้ามาในไทยเป็นจํานวนมากเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ไทยต้องให้ความสําคัญกับแรงงานเมียนมา เนื่องจากเราเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สัดส่วนคนสูงวัยสูง 20% และอายุเฉลี่ยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 40 ปีกับ 7 เดือน ซึ่งเป็นระดับคนวัยกลางคนทําให้ผลิตภาพแรงงานตํ่า และแรงงานขาดแคลน ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยยังเคลื่อนไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และสมาร์ทเทคโนโลยีได้ช้า จําเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเข้มข้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม-บริการและเกษตรกรรม

Latest


เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสสนทนาสารพัดเรื่องกับ ดร.ธนิต โสรัตน์ อดีตเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา (กกร.) และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ในฐานะผู้คร่ำหวอดด้านนายจ้างลูกจ้างและเคยเกี่ยวข้องกับเมียนมา

ดร.ธนิตถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงประเด็น โอกาสหรือความเสี่ยง... เมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร ...คนหนุ่ม-สาวหนีตายเข้ามาเป็นแรงงานไทย หลังจากสงครามกลางเมืองเมียนมาเริ่มจากปฏิบัติการ “พี่น้องภราดรภาพ 1027” ผ่านมา 4 เดือนเศษ สัญญาณรัฐบาลของพลเอกมิน อ่อง หล่าย ทําท่าเพลี่ยงพล้ำถูกกองทัพชาติพันธุ์รุกเสียพื้นที่สําคัญๆ ไปเกือบครึ่งประเทศ


ที่สําคัญเสียกําลังทหารไปมากทั้งเสียชีวิต-บาดเจ็บ-หนีทัพ และเปลี่ยนไปรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์

ทำให้รัฐบาลเมียนมาเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร พลเมืองทุกคน โดยให้ชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี ต้องเป็นกองกําลังทหารประจําการ 

การเกณฑ์ทหารของเมียนมามีการเข้าไปตามบ้านทั้งในเมืองและนอกเมืองโดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่เมืองพะอัน มะละแหม่ง เมียวดี หากพบชายหญิงอายุตามเกณฑ์จับใส่รถไปฝึกทหารโดยไม่ได้รับเงินเดือน

ขณะเดียวกันจากข้อมูลอินไซด์ประชาชนเมียนมาขณะนี้ขวัญเสียและรู้ว่า “มิน อ่อง หล่าย” แพ้แน่ พวกนักธุรกิจ-พ่อค้ารายใหญ่กําลังเตรียมตัวย้ายทรัพย์สินและออกนอกประเทศ สินค้าอุปโภค-บริโภค ขาดแคลนและแพงเนื่องจากเส้นทางถนนเชื่อมชายแดนเส้นทางการค้าสําคัญถูกตัดขาด เช่น ทางเหนือ เมืองเล่าก์ก่าย-เมืองรุ่ยลี่ (จีน) ทางตะวันตกเส้นทางเมืองตามู-มณีปุระ (อินเดีย) อีกเส้นทางที่เชื่อมกับ อินเดียด้านอ่าวเบงกอลรบกันหนัก


กองกําลังกลุ่มอาระกันกําลังล้อม “เมืองชิตตเว” เมืองหลวงของรัฐยะไข่ ขณะที่เส้นทางขนส่งสินค้าหลักจากไทยไปเมียนมาถนนเชื่อมแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง ถูกกองกําลังกะเหรี่ยงยึดได้จนไปถึงรัฐคะเรนนีติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดิมกองทัพกะเหรี่ยง “BGF” ผู้นําคือ นายพลหม่องชิตตู่อยู่ข้างย่างกุ้ง ได้ประกาศเป็นกลางไม่ร่วมกับรัฐบาลเมียนมามีผลทําให้เส้นทางตะวันออกเชื่อมชายแดนไทยต้ังแต่กาญจนบุรีไปจนถึงแม่ฮ่องสอนถูกตัดขาด

ทำให้เส้นทางชายแดนไทยจากชายแดนแม่สอดไปเมืองย่างกุ้งถนนหลักถูกทําลาย ต้องอ้อมขึ้นเขาผ่านเส้นทางเก่าผ่าน “เมืองก่อกะเระ” เป็นเส้นทางเสี่ยงจากอุบัติเหตุและอยู่ในเส้นทางที่กําลังรบกัน อีกทั้งยังต้องอ้อมและเสียค่าคุ้มครองทําให้ค่าขนส่งจากศูนย์ขนส่งเมียวดีไปเมืองย่างกุ้งค่าขนส่ง (รถ 22 ล้อ) ราคา 28,000 บาทเพิ่มเป็น 60,000 บาท และจากชายแดนไทยข้ามสะพานมิตรภาพไป ศูนย์ขนส่งเมียวดีระยะทาง 16 กิโลเมตร มีด่านกะเหรี่ยง 5 ด่านเสียภาษีเถื่อนเพิ่มจากคันละ 750 บาท เป็น 1,500 บาท ทําให้ปริมาณสินค้าลดลงและค่าขนส่งที่สูงทําให้ราคาสินค้าในเมียนมามีราคาพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

การเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมา ทําให้คนหนุ่ม-สาวหากไม่หนีออกจากบ้านส่วนหนึ่ง จะไปเข้ากับกองกําลังชาติพันธุ์ กลุ่มที่หนีส่วนใหญ่จะมุ่งเข้าไทยโดยติดต่อกับญาติ-เพื่อนที่ทํางาน ค่าใช้จ่ายแบบ “One Stop Service” คนละ 20,000 บาทเป็นราคารับ-ส่งถึงที่อยู่ในประเทศไทยจนถึงกรุงเทพฯ

ปัจจุบันแรงงานเมียนมาถูกกฎหมายที่อยู่ในไทยมีประมาณ 2.37 ล้านคน คิดเป็น 76.2% ของแรงงานต่างด้าวรวมกันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงานถูกกฎหมายเมียนมา เพิ่มขึ้น 574,000 คน เข้ามาตาม ข้อตกลงกฎหมายแรงงาน (มาตรา 59) รวม 274,200 คน และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จํานวน 2 ล้านคน ในจํานวนนี้ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาผิดกฎหมายอีกนับล้านคน (บางข้อมูล ระบุว่ามีมากกว่า 4 ล้านคน)

แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม-บริการ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูป อาหาร, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตยางรถ, อุตสาหกรรมทําเสื้อผ้า, ทํางานในภาคก่อสร้าง, ประมง รวมถึงใช้แรงงานทั้งในร้านอาหาร-แรงงานยกเคลื่อนสินค้าในภาคขนส่ง ตลอดจนทํางานตามบ้านครัวเรือน

แรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะทํางานในภาคเกษตรและปศุสัตว์ เช่น กรีดยางพารา, ตัดอ้อย, มันสําปะหลัง, เลี้ยงหมู-ไก่, ฟาร์มกุ้ง, งานในสวนผัก-สวนผลไม้ งานเหล่านี้ขาดแคลนคนและแรงงานไทยเลือกที่จะไม่ทํา แรงงานเมียนมา ชอบทํางานอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ตามด้วยจังหวัดสมุทรสาครซึ่งถือเป็นย่างกุ้งแห่งที่ 2 ในไทย ที่เหลือกระจายอยู่จังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ

วิกฤติที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมาทําให้คนหนีข้ามเข้ามาในไทยเป็นจํานวนมาก เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง

ไทยต้องให้ความสําคัญกับแรงงานเมียนมา เนื่องจากเราเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สัดส่วนคนสูงวัยสูง 20% และอายุเฉลี่ยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 40 ปีกับ 7 เดือน ซึ่งเป็นระดับคนวัยกลางคนทําให้ผลิตภาพแรงงานตํ่า และแรงงานขาดแคลน ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยยังเคลื่อนไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และสมาร์ทเทคโนโลยีได้ช้า จําเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเข้มข้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม-บริการ และเกษตรกรรม

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลต้องมีมาตรการและนโยบายแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด แรงงานเมียนมาที่ทะลักเข้ามา ทําอย่างไรจะนํามาใช้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติ ที่เป็นแนวทางที่ดีกว่าการเปิดฟรีวีซ่าให้คนจีนและแรงงานสีเทาจีนแห่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร

เกรียงไกร พันธ์ุเพ็ชร
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ