สงครามตลาดรถยนต์ในบ้านเราปีนี้ทวีความคึกคัก เพราะค่ายรถยนต์จีนเพิ่มความแข็งแกร่งในการรุกทะลวงตลาดในไทยมากขึ้น
โดยนอกเหนือจากกระแสการตื่นตัวรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ยังมาจากการที่ผู้บริโภคให้การยอมรับในรถยนต์แบรนด์จีนเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้จากยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่ล้นทะลักในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 44 หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 ณ ชาลเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยทำยอดจองรวมกันได้เกือบ 40% ของยอดจองรถยนต์รวมทั้งหมด
ขนาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ใหม่อย่าง “ดีพอล” ของค่ายฉางอัน ออโตโมบิล ที่เพิ่งเปิดตัวในงานนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย ปรากฏว่าผู้บริโภคชาวไทยก็พากันจับจองรถยนต์แบรนด์นี้ทั้ง 2 รุ่นรวมกันมากกว่า 3,000 คัน ทั้งที่คนจองก็เพิ่งจะได้เห็นรถตัวจริงเป็นครั้งแรกก็งานนี้ แถมยังไม่มีข่าวคราวการทดสอบรถยนต์แบรนด์นี้จากสื่อมวลชนสายยานยนต์ชาวไทย ที่สำคัญในช่วงที่จับจองรถยังไม่มีโชว์รูม หรือศูนย์บริการผุดโผล่ในไทยเลย
แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็ให้ความเชื่อมั่นในรถยนต์แบรนด์จีน จึงพากันจับจองล้นทะลัก
ดังนั้นเชื่อขนมได้เลยว่าสงครามตลาดรถยนต์บ้านเราในปี 2567 ค่ายรถยนต์จากประเทศจีนจะเพิ่มความปังรับปีมังกรทอง
โดยชูเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวจุดพลุรับกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคชาวไทย และรับมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ของรัฐบาล อีกทั้ง “รถยนต์ไฟฟ้า” ยังเป็นจุดสลบของค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น
สำหรับค่ายรถยนต์แบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยอยู่แล้วนั้น ในปีนี้จะยิ่งยกระดับการรุกเข้มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาสร้างสีสัน ทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ 100% หรือ BEV 100% และรถยนต์ไฟฟ้าประเภท “ปลั๊กอินไฮบริด” หรือ PHEV
โดยบางค่ายรถยนต์จีนที่มีรถยนต์หลากหลายประเภท ก็ยังได้เพิ่มการรุกในตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
ขณะเดียวกันในปีนี้หลายค่ายรถยนต์จีนก็ได้ฤกษ์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยออกมาลุยขายในปีนี้ (ตามเงื่อนไขที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายลดแลกแจกแถมของมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 ของรัฐบาล “ลุงตู่” ซึ่งทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในบ้านเราถูกลงอย่างมาก)
แน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ผลิตในไทย ซึ่งจะเริ่มลุยขายในปีนี้ ไม่ได้ช่วยให้ราคาถูกลง เผลอๆ จะแพงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนการประกอบในประเทศยังสูงกว่าการนำเข้ามาจากจีนทั้งคัน เนื่องจากยอดผลิตยังน้อย จึงไม่เกิดการประหยัดต่อขนาดของกำลังการผลิต (economies of scale) ซึ่งจะทำให้ค่ายรถจีนต้องเพิ่มกลยุทธ์การทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยทำยอดขายไปโลด เพราะได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างฐานผลิตในไทย จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างตลาดมารองรับยอดผลิตรถในประเทศอีกด้วย
ขณะเดียวกันในปีนี้จะได้เห็นการเร่งขยายโชว์รูม และศูนย์บริการของรถยนต์แบรนด์จีนในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายจุดจำหน่ายรถยนต์จีนให้เพิ่มมากขึ้นทั่วไทย และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคชาวไทย อย่างเช่น BYD ปีนี้มีแผนจะเพิ่มโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้ถึง 200 แห่ง จากที่มีอยู่แล้ว 100 แห่ง และฉางอันจะสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการของดีพอลในไทยให้ได้ถึง 80-100 แห่งในปีนี้
นอกจากนี้จากความสำเร็จของหลายค่ายรถยนต์แบรนด์จีนในไทย ทำให้ค่ายรถจีนรายอื่นๆ ก็เพิ่มความสนใจในการที่จะรุกตลาดรถยนต์ในไทย
ดังนั้นปีนี้จะได้เห็นแบรนด์รถยนต์จีนหน้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ค่ายเฌอรี่ (Chery) ที่ประกาศชัดแล้วว่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยปีนี้แน่นอน
อีกแบรนด์หรูของจีนที่น่าจับตามอง คือ Avatr ที่ค่ายฉางอันจับมือกับหัวเว่ย และผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า CATL ของจีน ร่วมกันผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียม ปีนี้ก็มีแผนแน่ชัดจะเปิดตัวลุยตลาดรถยนต์เมืองไทยในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้
หลับตาก็รู้ว่าตลาดรถยนต์ในไทยปีนี้จะระอุเดือดแน่!!!
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ