แก้เงินกู้ดอกเบี้ยโหด

Experts pool

Columnist

Tag

แก้เงินกู้ดอกเบี้ยโหด

Date Time: 8 ธ.ค. 2566 19:24 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ขูดเลือดขูดเนื้อลูกหนี้ด้วยดอกเบี้ยสูงๆ หรือข่มขู่ให้กลัว จนไม่เป็นอันทำมาหากินมีมาหลายยุคหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลชุดล่าสุด ประกาศ “แก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ” คำถามคือ วิธีใดจะกำราบเจ้าหนี้ดอกโหดได้ชะงัด

Latest


เงินกู้นอกระบบ หรือหนี้นอกระบบ ได้อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนทำมาหากินมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องวิ่งหาเงินกู้ยืมมาใช้จ่ายประทังชีวิต


ต้องยอมรับว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานใดเคยเก็บสถิติ ว่าหนี้นอกระบบของประเทศไทยที่แท้จริงแล้ว มีมูลหนี้รวมกันมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีประชาชนจำนวนมาก ที่ใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ได้รับความเดือดร้อน จากการถูกติดตามทวงหนี้

 

มองย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย 


เมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ประกาศชัดเจน “รัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” พร้อมมอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดรับลงทะเบียนให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ เข้าสู่ขบวนการแก้ไขหนี้  


ตลอดระยะเวลาโครงการ 2 ปี มีผู้กู้เงินนอกระบบมาลงทะเบียน 1.18 ล้านราย มีมูลหนี้รวมกัน 1.22 แสนล้านบาท แต่การประนอมหนี้สำเร็จ 6 แสนราย ไม่สำเร็จ 1.82 แสนราย และขอยุติเรื่อง 3.97 แสนราย


เรียกได้ว่าการแก้หนี้นอกระบบในช่วงนั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ประเมินว่าจะมีประชาชนผู้กู้เงินนอกระบบเข้ามาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก 


สิ่งที่ตามมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำแบบผิดฝาผิดฝั่ง แทนที่ให้เจ้าหนี้มาลงทะเบียน กลับให้ลูกหนี้มาลงทะเบียน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ส่วนใหญ่เป็นผู้กว้างขวาง และมีอิทธิพลในพื้นที่ ลูกหนี้ไม่กล้ามาลงทะเบียน กลัวไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน   


พอมายุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนี้นอกระบบได้เบ่งบานขึ้นไปอีก จากดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-50 บาทต่อเดือน หรือหนักสุด 5-20 บาทต่อวัน  


โดยบรรดาผู้มีอิทธิพล และผู้กว้างขวาง ที่เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ ได้สร้างเครือข่าย และขยายลูกข่ายอย่างรวดเร็ว เงินกู้จะส่งต่อมาเป็นทอดๆ ดอกเบี้ยเงินกู้บวกขึ้นตามช่วงของการส่งต่อ เมื่อถึงมือประชาชนผู้กู้เงินต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก 


เรียกได้ว่าผู้กู้เงินนอกระบบจะเสียดอกเบี้ยมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงิน หากเดือดร้อนมากต้องใช้เงินเดี๋ยวนี้ ดอกเบี้ยแพงก็ไม่สน หรือหักหัวคิวไม่ว่า ขอให้ได้เงินกู้เท่านั้น   


รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ใช้บริการเงินกู้นอกระบบ พร้อมออกประกาศแก้ไขปัญหาดังนี้ ออกกฎหมายคุมอัตราดอกเบี้ย เปิดให้เจ้าหนี้มาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ พร้อมให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เป็นผู้ให้คำปรึกษา และตั้งอนุกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด  


เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว นำเข้าสู่การใช้บริการเงินกู้ในระบบ มีฟื้นฟูอาชีพ สร้างรายได้ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน


ดูแล้ววิธีการ หลักปฏิบัติการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นเพียงทฤษฎี พอเข้าสู่หลักของการปฏิบัติ ความสำเร็จในการไขปัญหาหนี้นอกระบบมีน้อยมาก


ล่าสุดรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศว่า "วาระแห่งชาติ" แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการ ใกล้เคียงหรือแทบไม่ต่างกับยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 


ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้สำเร็จอย่างแท้จริง ต้องใช้ไม้แข็งกับบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบ ให้เจ้าหนี้ทุกรายมาลงทะเบียนภายใน 6 เดือน พร้อมแจ้งรายชื่อลูกหนี้ และวงเงินกู้ที่ปล่อยไปแต่ละราย จากนั้นเรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้มาไกล่เกลี่ย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่น ดอกเบี้ยที่ส่งไปแล้วเกินเงินต้นเป็นจำนวนมาก ก็ให้ยกเลิกกันไป


ที่สำคัญเจ้าหนี้รายใดไม่มาลงทะเบียน เงินกู้ที่ปล่อยไปทั้งหมดให้ถือว่าเป็นการยกหนี้ให้กับผู้กู้เงิน หากเจ้าหนี้รายใดยังไปเรียกเก็บหนี้ ใช้กฎหมายดำเนินการให้เด็ดขาด และลงโทษสูงสุดให้ยึดทรัพย์ 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


Author

ตัวจี๊ดสนามข่าว

ตัวจี๊ดสนามข่าว
โต๊ะเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ