เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางกลุ่มคาราบาวกรุ๊ป นำโดย “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยึดถือเป็นฤกษ์วันธงชัยเปิดตัว “เบียร์” แบรนด์ใหม่ พร้อมเปิดหน้าชนสองผู้ยิ่งใหญ่ คือค่ายสิงห์และช้างที่คุมตลาดถึง 90% ในตลาดเบียร์เมืองไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 270,000 ล้านบาท
เป็นที่ทราบกันดีว่าค่ายคาราบาวกรุ๊ป ผู้บุกเบิกโรงเบียร์ไมโครบริวเวอรี่ ภายใต้ชื่อโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ประกาศลงทุน 4,000 ล้านบาท ตั้งโรงเบียร์แห่งใหม่โดยพัฒนาต่อยอดมาจากเบียร์สดเยอรมันตะวันแดง
พร้อมกับมองว่าธุรกิจใหม่นี้จะเป็น Money Machine หรือเครื่องจักรผลิตเงินสด แล้วก้าวเป็นเป็นผู้ยิ่งใหญ่รายที่สาม เหมือนสองค่ายรุ่นพี่ที่ปั๊มเงินสดออกไปขยายอาณาจักรธุรกิจอื่นๆ ดังที่เห็นกัน
เหตุผลของการรุกเข้าตลาดเบียร์ของคาราบาวกรุ๊ปภายใต้บริษัทบริษัทโรงเบียร์ตะวันแดง 1999 จำกัด
“เสถียร” ยอมรับการบุกตลาดสุราในช่วงที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ จากข้อจำกัดหลายด้านโดยเฉพาะกฎหมายห้ามการโฆษณา ตลาดออนเทรดจำพวกร้านอาหาร ร้านเหล้า โรงแรม ทางคาราบาวกรุ๊ปไม่เชี่ยวชาญสู้คู่แข่งไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องหาเครื่องมือมาช่วยสนับสนุนความสำเร็จ
เครื่องมือที่ว่านี่ก็คือ การรุกตลาดเบียร์ “เสถียร” เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือพวกที่กลุ่มออนเทรดทั้งหลายความสนใจ อีกทั้งการตั้งโจทย์ให้ทำตลาดเหมือนโรงเบียร์น่าจะทำได้โดยไม่ยาก เมื่อตลาดเบียร์ประสบความสำเร็จการเปิดตลาดสุราต่อไปไม่ใช่เรื่องยาก
กองทัพเบียร์จากค่ายนี้จึงถูกพัฒนาออกสู่ตลาดถึง 5 ชนิดด้วยกันคือ
โดยเบียร์ Lager และ Dunkel จะทำตลาดในแบรนด์คาราบาว ในรูปแบบขวดและกระป๋อง จะเป็นหัวหอกหลักในการรุกสู่ตลาดเบียร์ระดับแมส ซึ่งมีสัดส่วนตลาดอยู่ถึง 90% แต่มีเพียงแค่สองรายที่คุมตลาดคือ ค่ายสิงห์และค่ายช้าง คาราบาวตั้งเป้าเป็นรายที่สาม โดยมีเป้าหมายมีส่วนแบ่งตลาด 10% หรือทำยอดขายให้ได้ 20,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี
สำหรับเบียร์ Weizen, Rose และ IPA จะรุกตลาดเบียร์พรีเมียมโดยแยกการทำตลาดอย่างชัดเจน
สิ่งที่เบียร์คาราบาวได้ให้ความสำคัญอีกด้านแม้จะผ่านเอเย่นต์ตัวแทนจำหน่ายและผ่านโมเดิร์นเทรดทั่วไปแล้ว คือการการเตรียมพร้อมสำหรับการกระจายเบียร์ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ผ่านเครือข่ายหน่วยงานรถเงินสดเข้าถึง 1 แสนร้านค้า มั่นใจกระจายได้ 7-10 วัน ระดับตำบล หมู่บ้านวางจำหน่ายผ่านร้านถูกดี มีมาตรฐาน ซึ่งมีกว่า 5,000 สาขา ใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับระดับอำเภอจะมีร้านซีเจ มอร์ มากกว่า 1,000 สาขา
การเปิดกลยุทธ์ดังกล่าวดูเหมือนค่ายคาราบาวจะทำการบ้านมาอย่างดี ว่าจะไม่พลาดกับการวางจำหน่ายหรือโดนกีดกันทางการตลาดจากคู่แข่งขันหรือเกิดอุบัติเหตุทางการตลาดอื่นๆ
เพราะประวัติศาสตร์สงครามเบียร์ในอดีต ค่ายยักษ์ซัดกันหนักทั้งใต้ดินและบนดิน
ไม่ว่าจะเป็นการขายเหล้าพ่วงเบียร์ขายเบียร์พ่วงเหล้า การใช้เครือข่ายจำหน่ายสินค้าแบนสินค้าคู่แข่ง ไปจนถึงการให้ตัวแทนกักสินค้าคู่แข่งไว้ให้นานที่สุดแล้วค่อยปล่อยสินค้าออกมาเพื่อหวังผลว่าชาติเปลี่ยนนักดื่มเบียร์จะได้พบประสบการณ์ที่ไม่ดีสำหรับการดื่ม
จนไปถึงการซื้อขวดเบียร์ของคู่แข่งไปทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้มีขวดนำไปรีไซเคิลและกลับมาบรรจุเบียร์ที่โรงงานเพื่อกลับไปจำหน่ายอีกครั้ง
ที่ผ่านมาตลาดเบียร์แม้จะมีผู้เล่นหลักเพียงสองรายแต่ก็ยากที่จะเข้ามาไล่เบียดส่วนแบ่งยอดขายได้ จากอุปสรรคขวากหนามหลายๆ ด้าน
โดยเฉพาะกฎหมายดูเหมือนจะเปิดเสรีให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุนโรงเบียร์ไม่จำกัดกำลังการผลิตขั้นต่ำแล้วแต่ต้องทำการปฏิบัติการตามข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมและด้านสาธารณสุขก่อน ซึ่งขีดความสามารถนี้มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถทำได้ ทางโรงเบียร์ของคาราบาวกรุ๊ปที่จังหวัดชัยนาทเองก็ผ่านกระบวนการดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน
ต่อไปก็คือสงครามการตลาดเบียร์ที่เราจะเห็นสีสัน บรรยากาศ ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองท้ายปีกันอย่างคึกคัก การรเข้าสู่ตลาดเบียร์จะเป็น Money Machine เป็นเครื่องจักรผลิตเงินสด ตามเป้าหมายให้ได้หรือจะเป็นเครื่องจักรเผาเงินสด เราต้องติดตามกันต่อไป
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ