ความเชื่อมั่นตกต่ำ ปัจจัยกดดันการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจจีนในระยะกลาง

Experts pool

Columnist

Tag

ความเชื่อมั่นตกต่ำ ปัจจัยกดดันการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจจีนในระยะกลาง

Date Time: 3 ต.ค. 2566 19:31 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Latest


เมื่อต้นปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้สูงในปี 2566 หลังจีนยกเลิกการใช้มาตรการ Zero-COVID ที่บังคับใช้มานานเกือบ 3 ปี ทำให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยว เป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 5.0% ถูกมองเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้สูงนัก ซึ่งข้อมูลในไตรมาสแรกก็สะท้อนมุมมองนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.5%YOY สูงกว่าคาดการณ์ของ Reuters Poll ที่ 4.0%

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลงเรื่อยๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาดต่อเนื่องหลังจากอานิสงส์การยกเลิกมาตรการ Zero-COVID เริ่มหมด และเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญจากความเปราะบางเชิงโครงสร้างระยะยาวที่เกิดขึ้นมาก่อนวิกฤติ COVID-19 แล้วอีกด้วย ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.3%YOY ต่ำกว่าคาดการณ์ของ Reuters Poll ที่ 7.3%YOY มาก นักเศรษฐศาสตร์จึงทยอยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ลง และบางสำนักเริ่มมองว่าเป้าหมาย 5.0% ที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ในช่วงต้นปีอาจสูงเกินไป

เศรษฐกิจจีนเผชิญหลายปัจจัยกดดันทำให้ฟื้นตัวได้ช้า อาทิ การส่งออกหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซาต่อเนื่องหลังรัฐบาลบังคับลดการก่อหนี้ของธุรกิจอสังหาฯ ในปี 2563 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น นำไปสู่มาตรการกีดกันด้านเทคโนโลยีต่างๆ จากฝั่งสหรัฐฯ ตลอดจนการเข้าปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ของรัฐบาลจีนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวช้า รัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังจากหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูง และมุมมองของรัฐบาลจีนที่ยอมให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงได้บ้างเพื่อดำเนินนโยบายลดการเก็งกำไรและการก่อหนี้ลง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยกดดันเหล่านี้ มีผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจจีน แต่เมื่อเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จึงกระทบเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง ได้แก่ ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนที่ลดต่ำลง ทั้งจากผู้บริโภค ธุรกิจ และต่างชาติ ซึ่งเป็นอีกความท้าทายที่เศรษฐกิจจีนจะต้องเผชิญในระยะต่อไป

ความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับ 86.5 ในเดือนสิงหาคม 2566 ใกล้เคียงระดับต่ำสุดตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่ดัชนีในปี 2533 ที่ 85.5 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนลดลงอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ แม้ว่ามาตรการ Zero-COVID จะถูกยกเลิกไปสักพักใหญ่แล้ว แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซารุนแรง เนื่องจากความมั่งคั่งของชาวจีนกว่า 70% อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ เมื่อตลาดอสังหาฯ หดตัวรุนแรงและราคาอสังหาฯ ลดลงต่อเนื่อง ชาวจีนจึงมีความมั่นคงลดลงและกระทบการใช้จ่าย นอกจากนี้ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ลุกลามไปบางภาคเศรษฐกิจอื่น เช่น บริษัททรัสต์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเกิดการผิดนัดชำระเงิน กดดันความเชื่อมันผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีก

ตลาดแรงงานจีนยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอายุน้อย 16-24 ปี ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน 2566 สาเหตุจากตำแหน่งงานที่เปิดรับไม่ตรงกับสาขาวิชาที่นักศึกษาจบมา หรือค่าจ้างต่ำกว่านักศึกษายอมรับได้ ล่าสุด สำนักงานสถิติจีนได้ประกาศว่ากำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ จึงจะไม่เผยแพร่ข้อมูลอัตราการว่างงานกลุ่มแรงงานอายุน้อยต่อ แม้จะเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่การประกาศเช่นนี้ก็ไม่น่าทำให้ชาวจีนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่าบริษัทในบางอุตสาหกรรม เช่น การเงินและเทคโนโลยี ปรับลดเงินเดือนพนักงานลงมากตามผลประกอบการที่แย่ลง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ตาข่ายรองรับทางสังคม (Social safety nets) ที่ครอบคลุมแรงงานจีนเพียงส่วนน้อย เพราะฉะนั้น หากผู้บริโภคจีนมองว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะตกงาน ก็จะลดการใช้จ่ายลงและออมเงินมากขึ้นในช่วงความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้

ความเชื่อมั่นธุรกิจ

ธุรกิจจีนมีความเชื่อมั่นลดต่ำลงเช่นกัน ผลสำรวจ Entrepreneur survey report ซึ่งสอบถามมุมมองต่อการทำธุรกิจของบริษัทอุตสาหกรรมกว่า 5,000 ราย ที่จัดทำโดยธนาคารกลางจีนชี้ว่า ธุรกิจมีมุมมองที่แย่ลงต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ (Business climate index) ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2566 ถึงแม้ว่าจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ล่าสุดดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่า 50 ที่ 49.6 สะท้อนมุมมองด้านลบ สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงทั้งในและนอกประเทศจากปัจจัยกดดันที่กล่าวมาข้างต้น

อีกปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในจีน ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการเข้าปราบปรามอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมองว่าไม่สอดคล้องกับนโยบาย Common prosperity เช่น บริษัทที่มีกำไรสูงจากการผูกขาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อาทิ ธุรกิจกวดวิชา ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าการเข้าปราบปรามมีวัตถุประสงค์เพิ่มความเท่าเทียม แต่ก็มีผลทำให้ธุรกิจไม่กล้าลงทุนเพิ่มเติมเนื่องจากกังวลว่ารัฐจะเข้ามาปราบปรามเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้กดดันให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคเอกชนหดตัว 16.6%YOY ในช่วง 8 เดือนแรกของปี ขณะที่อัตราการขยายตัวของสินเชื่อคงค้างค่อนข้างซบเซา แม้ธนาคารกลางจะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนอุปสงค์ต่อสินเชื่อที่ต่ำในช่วงความไม่แน่นอนสูง

ความเชื่อมั่นจากต่างชาติ

บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนก็มีความเชื่อมั่นลดลง เห็นได้จากผลสำรวจของ American Chamber of Commerce (AmCham) ในเซี่ยงไฮ้เผยแพร่วันที่ 19 กันยายน 2566 เผยว่าธุรกิจสหรัฐฯ ในจีนเพียง 52% มีมุมมองบวกต่อการทำธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มสำรวจ โดยธุรกิจสหรัฐฯ มีความกังวลเรื่องความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และสภาพแวดล้อมการกำกับธุรกิจที่ไม่ค่อยโปร่งใส ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่ตอบผลสำรวจ 40% ได้ย้ายการลงทุนหรือเริ่มพิจารณาย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นแทน และสัดส่วนของธุรกิจสหรัฐฯ ที่มองว่าจีนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งในแผนการลงทุนลดลงเหลือเพียง 17% จาก 27% ในปี 2564

ในระยะต่อไป SCB EIC มองว่าการแบ่งขั้วระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ และจีนจะเร่งตัวขึ้น ทำให้การลงทุนจากต่างชาติในจีนลดลง จากมาตรการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่จีนเองก็มีการปราบปรามธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การส่งตำรวจบุกออฟฟิศบริษัทให้คำปรึกษาและบริษัทสอบทานธุรกิจต่างชาติในจีน การควบคุมการส่งข้อมูลออกนอกประเทศ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การแบ่งขั้วระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ และจีนเร่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ทำอย่างไรความเชื่อมั่นในจีนถึงจะกลับมา

วิธีฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนให้กลับมาได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นโดยเร็ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากจากปัจจัยกดดันที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความเชื่อมั่นต่ำจึงจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้มีการเปลี่ยนท่าทีให้อ่อนลงบ้างบางส่วน เช่น การตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนผ่านการประสานงานนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ฯลฯ ปัญหาความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำนั้นนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลจีนสามารถทำเพิ่มได้คือการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายและสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น เพื่อลดความไม่แน่นอน สุดท้ายเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของรัฐบาลจีนในการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ปัณณ์ พัฒนศิริ

ปัณณ์ พัฒนศิริ
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)