จับจังหวะลงทุนกับทิศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง

Experts pool

Columnist

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Tag

จับจังหวะลงทุนกับทิศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง

Date Time: 19 พ.ค. 2566 15:53 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Latest


 

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มี 2 เหตุการณ์ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้ เหตุการณ์แรก ได้แก่ การประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2023 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ส่วนเหตุการณ์ที่สอง ได้แก่ ผลการเลือกตั้งทั่วไปอย่างไม่เป็นทางการของไทย

 

ในเหตุการณ์แรก สภาพัฒน์ประกาศว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 2.7% ต่อปี หรือ 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ปรับฤดูกาลแล้ว) ซึ่งใกล้เคียงกับที่เราคาดที่ 2.5% ในมุมมองเรา ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศจะมากขึ้น แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ กำลังชะลอรุนแรงขึ้นจะทำให้ ภาคการผลิตและส่งออกได้รับผลกระทบ เราจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 3% ภาพที่เรามอง สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ประกาศโดยสภาพัฒน์ โดยองค์ประกอบหลักที่เป็นส่วนผลักดันเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2023 ได้แก่

(1) การบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 5.4% ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวถึงกว่า 34.3% และการกลับมาขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน

(2) การส่งออกบริการ (หรือรายได้จากนักท่องเที่ยวขาเข้า) ที่ขยายตัวสูงถึง 87.8% แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลงถึงกว่า -6.4% (ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ ชะลอลง) ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (ที่รวมทั้งส่งออกและท่องเที่ยว) ขยายตัว 3.0% และ

(3) การลงทุนภาคเอกชน ที่ขยายตัว 2.6%

 

ส่วนภาคที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่ ภาคสินค้าคงคลังและการบริโภคภาครัฐ ที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวถึงกว่า -1.4% (percentage point)

 

ในส่วนภาคการผลิต ภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยสาขาที่พักแรมและบริการขยายตัว 34.3% และขนส่งที่ 12.4% ส่วนภาคค้าส่งค้าปลีก และก่อสร้าง ขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.9% ตามลำดับ ขณะที่ภาคที่หดตัวเกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -3.1% โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับส่งออกหดตัวถึง -13.7% โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และพลาสติก ส่วนอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์และการกลั่นปิโตรเลียม

 

มองไปข้างหน้า เราเริ่มกังวลภาคการผลิตมากขึ้น ทั้งจาก (1) ความเสี่ยงภัยแล้งที่ อาจจะกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรอาจปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก (2) ภาคอุตสาหกรรมที่อาจจะยังหดตัวต่อเนื่องตามความต้องการโลกที่ แย่ลง และ (3) ภาคการเงินที่เสี่ยงมากขึ้นจากความต้องการสินเชื่อที่ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ เข้มงวดขึ้น มุมมองของเราเป็นเช่นเดียวกับสภาพัฒน์ โดยแม้ว่าสภาพัฒน์จะยังคงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้เท่าเดิมที่ 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) ขณะที่เรามองว่าเศรษฐกิจปีนี้ จะขยายตัว 3.0% แต่เริ่มส่งสัญญาณกังวลความเสี่ยงมากขึ้น โดยสภาพัฒน์มองว่า การเบิกจ่ายภาครัฐจะล่าช้า และการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอมากขึ้นตามทิศทางการส่งออก ขณะที่มุมมองเราค่อนข้างตรงกับสภาพัฒน์ฯ โดยยังคงมุมมองความเสี่ยงการส่งออกมีมาก ขณะที่มองว่าการบริโภคจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

นอกจากนั้น สภาพัฒน์กังวลความแปรปรวนของสภาพภูมิ อากาศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ ภาวะเอลนีโญ โดยมองว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ ยอาจลดต่ำมากในช่วงปลายปี นอกจากนั้น ยังกังวลเรื่องความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ อันเป็นผลจากการเลือกตั้งที่มีผลต่อการเจรจางบประมาณ นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังเลือกตั้งก็เป็นปัจจัยที่สภาพัฒน์กังวลด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของเรา ในประเด็นภัยแล้ง เราจับตาดัชนี SOI (Southern Oscillation Index) ซึ่งเป็นดัชนี แสดงความแปรปรวนของระบบอากาศซีกโลกใต้และเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงเกิดภาวะ El Nino มากขึ้น โดยหากดัชนีนี้เข้าสู่แดนลบ แสดงว่าภูมิอากาศมีปัญหา โดยอาจทำให้เกิดภาวะ El Nino ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตทางเกษตรของไทย และนำไปสู่วิกฤติทางการเกษตรได้

 

โดยนับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ภาวะ El Nino ขึ้น 3 ครั้งใหญ่ๆ ได้แก่ (1) ช่วงปี 1997-1998 (2) ช่วงปี 2007-09 และ (3) 2015-17 อย่างไรก็ตาม ดัชนี  SOI  ณ ปัจจุบันยังคงเป็นบวก แต่มีทิศทางที่ชะลอลง (ล่าสุด ณ เดือน เม.ย. อยู่ที่ +0.2 จุด) ชะลอลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2022 ที่ 2.1 เราจึงจะจับตาสัญญาณดัชนีดังกล่าวต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2015 ดัชนี SOI หดลงกว่า 10% โดยหากพิจารณาในรายสินค้าเกษตร จะเป็นการหดตัวของทั้งธัญพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าว โดยข้าวหดตัวแรงสุดที่ประมาณ 70% ในไตรมาสที่ 2-3 นอกจากนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาสินค้าเกษตรหดตัวลงเช่นกัน ในระดับ 5-10% โดยเป็นการหดตัวของราคายางเป็นหลัก (ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงดังกล่าว หรือ China hard landing ทำให้ความต้องการยางซึ่งเป็นสินค้าหลักในภาคอุตสาหกรรมลดลง) ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวประมาณ 15-20% ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หากดัชนี SOI เข้าสู่แดนลบในไตรมาส 3 และลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 ในปีนี้ อาจทำให้เกิดภาวะ El Nino เกิดในช่วงต้นปี 2024 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงเช่นเดียวกับช่วงปี 2015-17 นอกจากนั้น ต้องติดตามว่าราคาจะปรับลดลงเช่นเดียวกับปริมาณการผลิตด้วยหรือไม่ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรง และทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงในระดับใกล้เคียงกับช่วง 2015-17 ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า พืชผลทางการเกษตรที่จะเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้งสูงสุด ได้แก่ ธัญพืช โดยเฉพาะ ข้าวและข้าวโพด

 

ในการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง เรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลขั้วใหม่ที่มีแกนนำ ได้แก่ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยสามารถร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่อาจมีความไม่แน่นอนเรื่องระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เราไม่ปิดโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลขั้วผสม ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ โดยในรูปแบบนี้ รัฐบาลอาจมีเสถียรภาพและใช้ เวลาจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามแผนที่ กกต. วางไว้ แต่เสถียรภาพนอกสภาต่ำ

 

เพื่อเป็นการวิเคราะห์ถึงผลของนโยบายรัฐบาลใหม่ต่อเศรษฐกิจ เราจึงได้พิจารณานโยบายเร่งด่วนของพรรคก้าวไกล โดยเราพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเชิงสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียมเป็นหลัก เช่น พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การเร่งแปลงเอกสารสิทธิ์ของที่ ดินนิคมสหกรณ์ให้กับประชาชน มาตรการหวย SME รวมถึงโครงการสวัสดิการประชาชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากเท่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเรามองว่า หากรัฐบาลพรรคก้าวไกลสามารถผลักดันมาตรการหลักที่หาเสียง เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ-เบี้ยผู้พิการ 3,000 บาท เลี้ยงดูบุตร 1,200 บาท เงินแรกเกิด 3,000 บาทแล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 0.7% จากประมาณการเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเริ่มโครงการ และปัจจัยด้านการเมืองด้วย

 

อีกประเด็นที่เรากังวลในประเด็นการเมืองกับเศรษฐกิจ คือความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจาก Timeline ในการจัดตั้งรัฐบาลที่ทาง กกต. ประกาศ จะทำให้เราได้สภาฯ และรัฐบาลอย่างเร็วที่สุดคือเดือน ก.ค. และ ส.ค. ตามลำดับ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณอย่างน้อย 2-3 เดือน ทำให้เรามองว่าโอกาสที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายสำเร็จได้ก่อนปีงบประมาณสิ้นสุด (สิ้นเดือน ก.ย.) ไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยอาจล่าช้าประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งจะทำให้งบลงทุนในไตรมาส 4/66 ปีปฏิทิน หรือไตรมาส 1/67 ไม่สามารถอนุมัติใหม่ได้ โดยจากสถิติของสภาพัฒน์ฯ ในอดีต จะพบว่าในช่วงปีเลือกตั้ง การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะหายไป 50% เป็นอย่างต่ำ

 

กล่าวโดยสรุป ในภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้จะเป็นทิศทางฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดประเทศที่ทำให้การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศมีมากขึ้น แต่เราจึงมองว่าการล่าช้าในกระบวนการงบประมาณจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพิ่มเติมจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ กำลังชะลอลงและภัยแล้งที่มี ความเสี่ยงมากขึ้น

 

ด้วยภาพความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทาง InnovestX จึงได้มีมุมมองระมัดระวังในการลงทุน โดยเรายังคงคำแนะนำใน 5 หุ้นเด่นในธีม Best of the Best ได้แก่ AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF ที่มีจุดแข็งร่วมกันคือ (1) เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม (2) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (3) กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้นและสูง (Outperform) กว่าตลาด

 

ในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องทางให้ลงทุนได้ แต่นักลงทุนจะต้องจับจังหวะและโอกาสให้ดีด้วย

 

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี