อาเซียน ตั้งเป้า “ศูนย์กลางการผลิตโลก” ฮับรถ EV - เซมิคอนดักเตอร์ สังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย

Economics

World Econ

Tag

อาเซียน ตั้งเป้า “ศูนย์กลางการผลิตโลก” ฮับรถ EV - เซมิคอนดักเตอร์ สังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย

Date Time: 13 ม.ค. 2568 17:04 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • “ประเทศมาเลเซีย” เปิดฉากเจ้าภาพอาเซียน 2025 ตั้งเป้าใหญ่ เป็นศูนย์กลางการผลิตโลก ดันอุตสาหกรรม EV - เซมิคอนดักเตอร์ สู้ศึกสงครามการค้า จีน - สหรัฐฯ เทคโนโลยี พลิกโฉมเศรษฐกิจ

Latest


เป็นที่น่าจับตามองทุกครั้ง เมื่อ “มาเลเซีย” รับบทบาทสำคัญ เป็นประธานอาเซียน โดย 2 ม.ค. 2025 ที่ผ่านมา “Anwar Ibrahim” นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ยืนยันต่อประชาคมว่า มาเลเซียจะพยายามปฏิบัติภารกิจประธานอาเซียนตลอดปี 2025 ให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ภายใต้ความท้าทายครั้งใหญ่ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การค้าโลกที่แบ่งขั้ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพอากาศ ยิ่งกดดันให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ชาติสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ยิ่งต้องแสดงความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ขณะเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาบรรยากาศของการวางตัวเป็น “กลาง” ในทุกๆ ความขัดแย้ง เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการค้า และอาศัยแรงขับเคลื่อนรายได้ต่อหัวประชากรในประเทศ ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตดี เช่น มาเลเซีย ที่เตรียมเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศรายได้สูง ตามหลังสิงคโปร์ เพื่อพยุงตัวเองให้รอด แม้อาเซียนจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีพลังทางเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคก็ตาม

ทั้งนี้ Thairath Money เข้าร่วมงานประชุมสำคัญ ASEAN ECONOMIC OPINION LEADERS CONFERENCE: OUTLOOK FOR 2025 ซึ่งจัดขึ้นที่ MENARA MITI, KUALA LUMPUR ของประเทศมาเลเซีย ช่วงวันที่ 8-9 ม.ค. 2025 ที่ผ่านมา

โดยเวทีนี้ ถูกจัดขึ้นโดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากบุคคลสำคัญ ภาคธุรกิจ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้นำทางความคิดที่มีชื่อเสียงจากทั่วภูมิภาคอาเซียน มาแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็นประโยชน์ จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคต่อไป

ตั้งเป้าผลักดัน “อาเซียน” เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก

ซึ่ง YB DATUK SERI UTAMA TENGKU ZAFRUL AZIZ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซีย เน้นย้ำว่า มาเลเซียตั้งเป้าที่จะใช้ตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2025 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค แม้กำลังเจอกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในยุคใหม่ โดยเฉพาะความท้าทายจากพลวัตของมหาอำนาจ ภายใต้การบริหารยุคที่ 2 ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เตรียมใช้นโยบายกีดกั้นทางการค้าที่เข้มข้นรุนแรงมากขึ้น อย่างการเพิ่มกำแพงภาษี

เนื่องจากในบรรดา 15 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด มีเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมอยู่ด้วย ซึ่งประเทศเราเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษี นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งจัดการปัญหาภายใน เช่น เรื่องพม่าและทะเลจีนใต้ รวมถึงเร่งศึกษาข้อดีและข้อเสียจากกรณีหลายประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาการเข้าร่วมกับ BRICS อีกด้วย

สำหรับเป้าหมายของอาเซียน ประธานอาเซียนอย่างมาเลเซียนั้น มีการประกาศไว้หลายเรื่อง ดังนี้

การมุ่งมั่นที่จะรักษาความเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และความร่วมมือด้านพลังงาน แร่ธาตุ และเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การขับเคลื่อนข้อตกลง RCEP เพื่อการเติบโตของภูมิภาค ผลักดันการเจรจา ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ GCC สนับสนุนผู้ประกอบการสตรีและเยาวชนผ่านโครงการต่างๆ

ประเด็นที่สำคัญเพิ่มเติม จากถ้อยแถลงของกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย ยังเรียกร้องให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน บริหารจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง เพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น อาเซียนต้องพัฒนาตลาดภายใน เพื่อไม่ให้พึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ความจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่ง ให้เป็นกลุ่มก้อนที่มีอิทธิพลในเวทีโลกให้ได้ ปูทางสู่ความยั่งยืนในมิติต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาเป็นสังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย เพื่อให้เป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่และเป็นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อาเซียน ต้องพึ่งพาตัวเอง ดัน สังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย 

สอดคล้องกับข้อมูลของ World Bank (ธนาคารโลก) ที่เผยว่าหลายชาติสมาชิกอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ต่อหัวประชากรโดดเด่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรเสีย พบประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์ มีอัตราการเติบโตที่ชะลอต่ำลง จึงจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น

ขณะ Aakash Mohpal นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก ศูนย์วิจัยธนาคารโลก แสดงความเป็นห่วง หลังชี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับการชะลอตัว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งด้านการค้า นโยบาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น

ด้านเนื้อหาสาระในเวทีเสวนาย่อย หัวข้อ อาเซียนในฐานะสังคมชนชั้นกลาง: การสร้างอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยนักวิจัยชื่อดัง เช่น Nick Khaw หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Khazanah และ Fraziali Ismail ผู้ช่วยผู้ว่าการ Bank Negara Malaysia

ระบุว่า ตลาดอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มดีที่สุด แม้จำนวนประชากรน้อย แต่คนมีกำลังซื้อสูง จึงส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง ตรงกันข้ามกับอินโดนีเซีย ที่จะมีประชากรมาก แต่ไม่ได้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุด สะท้อนว่า ในการพิจารณาศักยภาพของตลาด ควรเปลี่ยนไปมุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อและพฤติกรรมการใช้จ่ายมากกว่าขนาดของประชากร

สำหรับในงาน ASEAN ECONOMIC OPINION LEADERS CONFERENCE: OUTLOOK FOR 2025 ครั้งนี้ ยังมีตัวแทนจากประเทศไทย ได้แก่ กวี จงกิจถาวร ในฐานะนักข่าวอาวุโสด้านกิจการภูมิภาค รวมไปถึง ศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน ขึ้นกล่าวบนเวทีด้วย

ซึ่งต่างเน้นย้ำถึงความท้าทายของอาเซียนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงในภูมิภาค การพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

โดย รศ.ดร.ปิติ ให้สัมภาษณ์กับ Thairath Money ว่าขณะนี้ อาเซียนกำลังเจอความท้าทายครั้งสำคัญในการรักษาความเป็นกลาง ซึ่งแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่

1. จะทำอย่างไร? อาเซียนถึงจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่การค้า-การลงทุนของโลกได้ เป็น Middleman ใน Supply Chain ที่กำลังจะแตกสลาย เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หมายรวมไปถึง สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ สงครามเทคโนโลยี สงครามการเงิน กำลังสั่นคลอนความอยู่รอดของภูมิภาค

“อาเซียนเอง จะยังประคับประคองตัวเองให้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกได้อย่างไร”

2. จะทำอย่างไร? ให้อาเซียนที่มีฐานะเป็นประชาคมของ 10 ชาติ จำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มคนตรงกลาง หรือ “ชนชั้นกลาง” ให้มีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เรายังไม่เห็นบทบาทของคนกลุ่มนี้ในเชิงเศรษฐกิจมากนัก จากความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีเพียงช่วงชั้นของคนรวยและคนจน

3. จะทำอย่างไร? ให้อาเซียนมีบทบาทและมีอำนาจมากขึ้นในเวทีต่อรองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเวทีต่างๆ ซึ่งอาเซียนต้องเร่งตอบคำถามให้ได้ ว่าเราจะเป็นตัวกลางหรือเป็นมหาอำนาจขนาดกลางได้อย่างไร?

รศ.ดร.ปิติ ยังกล่าวทิ้งท้าย ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับคนไทยมากกว่าที่คิด เพราะเกี่ยวโยงกับทิศทางเศรษฐกิจและปากท้อง เนื่องจากประเทศไทยเราเอง ไม่สามารถผลิตสินค้าหรือมีวัตถุดิบทุกอย่างเป็นของตัวเอง เรายังต้องนำเข้าตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น ขั้นกลาง รวมไปถึงแรงงาน

เพราะฉะนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เช่น การห้ามบางประเทศซื้อ-ขายวัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งห้ามบางประเทศเข้าถึงเทคโนโลยี จะเป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางกลับกัน เมื่อประเทศไทยมีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เมื่อไหร่ที่เจอกำแพงภาษี หรือข้อกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ที่เป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม, ประเด็นข้อจำกัดจากสงคราม นั่นหมายถึงโอกาสในการทำมาค้าขายของเราก็จะน้อยลงไปด้วย

หรือแม้แต่ในแง่การลงทุนของผู้ประกอบการไทย ที่อยากออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ นอกประเทศ ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ มิติด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดจะกระทบเป็นห่วงโซ่ในแง่การผลิต การจ้างงาน และรายได้ในกระเป๋าของประชาชน ท้ายที่สุดก็จะส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั่นเอง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP รวมของอาเซียน ปี 2025 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ยประมาณ 4-5% ต่อปี ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในประเทศ การลงทุนจากต่างชาติ (FDI) และการส่งออก ขณะประเทศอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดที่เติบโตเร็ว

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อุมาภรณ์ พิทักษ์

อุมาภรณ์ พิทักษ์
เศรษฐกิจ การเงิน ลงทุน และ อสังหาริมทรัพย์