สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายสินค้าและบริการของผู้บริโภค พบว่า ในเดือน ธ.ค. CPI ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และชะลอตัวลงจากเดือน พ.ย. ที่ 0.2% สะท้อนความกังวลด้านการเงินฝืดที่อาจยืดเยื้อ จนเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน
ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงราคาขายสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ ของผู้ผลิต หดตัว 2.3% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 27 อย่างไรก็ตาม ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญบางตัวส่งสัญญาณปรับดีขึ้น โดยดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเพิ่มแรงกดดันด้านราคาต่อตลาดพันธบัตรทั่วโลก ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในจีน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเข้าใกล้ศูนย์สะท้อนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ยังไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นการบริโภคในประเทศได้ ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่าในอดีต หรือที่เรียกว่า Pan’s Package โดยครอบคลุมทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนให้สามารถขยายตัวในอัตราที่มากกว่า 5% ได้
นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำยังเป็นอุปสรรคสำหรับธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) ที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางกล่าวว่าพร้อมที่จะผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยและลดอัตรากันสำรองเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney