จับตากระทบลูกโซ่ทั่วโลก หลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ CATL ยักษ์แบตเตอรี่ EV จีน Tesla อาจลำบากสุด

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตากระทบลูกโซ่ทั่วโลก หลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ CATL ยักษ์แบตเตอรี่ EV จีน Tesla อาจลำบากสุด

Date Time: 9 ม.ค. 2568 13:10 น.

Video

บ้านไม่รวยสร้างตัวยากเปิด 3 ทางรอดที่คนรุ่นใหม่ต้องรู้ | Money Issue

Summary

  • Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติสหรัฐฯ ที่ครองอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก หลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ CATL ซัพพลายเออร์ใหญ่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ที่ใหญ่ที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla

หลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำธุรกิจจีนครั้งล่าสุดที่ประกอบด้วย Tencent Holdings Ltd ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ เจ้าของแอป WeChat และ Contemporary Amperex Technology Co. Ltd. หรือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) รายใหญ่ที่สุดในโลกในข้อกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีน กำลังนำไปสู่ความกังวลที่ว่า บัญชีดำดังกล่าวอาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรม EV

รายชื่อดังกล่าวที่เรียกว่า "1260H List" ที่ได้แปะป้ายว่าธุรกิจนั้น ๆ เป็นบริษัทของกองทัพ "Chinese military companies" เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสกัดความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อต้านการดำเนินงานของจีนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้กับกองทัพ โดยรายชื่อบริษัทจีนรายอื่น ๆ ที่อยู่ในลิสต์ยังมี SenseTime Group Inc. และ Changxin Memory Technologies Inc. โดยระบุถึงผู้ผลิตชิปหน่วยความจำของจีนที่ถือว่ามีความสำคัญต่อความพยายามในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของปักกิ่ง นอกจากนี้ยังมีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ Cnooc Ltd. และ Cosco Shipping Holdings Co.

อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทได้ประท้วงการกระทำของสหรัฐฯ ว่าเป็นความผิดพลาด หลังหุ้นของ Tencent ร่วงลงมากกว่า 7% ในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นการร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ส่วนหุ้นของ CATL ซึ่งจดทะเบียนในเซินเจิ้นลดลงมากกว่า 3% เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุในแถลงการณ์ว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหารและก่อตั้งโดยเอกชนเท่านั้น 

Tesla อาจตกที่นั่งลำบาก

ทั้งนี้หลายฝ่ายกังวลการขึ้นบัญชีดำดังกล่าวอาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการคว่ำบาตรที่ชัดเจน แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของทั้งสองบริษัท และทำให้บริษัทในสหรัฐฯ ไม่กล้าที่จะทำธุรกิจด้วย โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรม EV

CATL ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน ครองตลาดแบตเตอรี่ EV ทั่วโลกด้วยส่วนแบ่งที่สำคัญเกือบ 40% หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของการขนส่งแบตเตอรี่ทั่วโลกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ตามข้อมูลของ SNE Research

บริษัทมีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ล้ำสมัย รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและนวัตกรรมด้านประสิทธิภาพและความยั่งยืนของแบตเตอรี โดยผลิตและจัดหาแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น BMW ที่ร่วมมือกับ CATL เพื่อโซลูชันแบตเตอรี่ EV , Volkswagen ที่ร่วมมือกับ CATL พัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ EV รวมถึง BYD ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของจีนที่ใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของ CATL รวมถึงแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น Stellantis , Geely , Nio , Nissan , Honda เป็นต้น

ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่า ลูกค้าคนสำคัญอย่าง Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรม  อาจตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากและอาจต้องสรรหาวิธีใหม่ในการสร้างสมดุลระหว่างบทบาทในรัฐบาลทรัมป์กับความสัมพันธ์กับจีน เพราะ CATL คือ ซัพพลายเออร์รายสำคัญของโรงงาน Tesla ในเซี่ยงไฮ้ที่ผลิตและจัดหาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ซึ่งนับเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ Tesla และเป็นจุดส่งออกรถยนต์เหล่านี้ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ CATL ไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ยุโรปและแคนาดา

สมาชิกรัฐสภาวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดเก็บแบตเตอรี่บางส่วนของ CATL ทั่วสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าโครงการเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัย ทั้งนี้ตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 4% และ 35% ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบจัดเก็บไฟฟ้า (ESS) ของ CATL ตามลำดับในปี 2023 ตามการประมาณการของ Citi 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า Tesla และ CATL กำลังดำเนินการตกลงอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีของ CATL ในการผลิตแบตเตอรี่ในรัฐเนวาดา โดยข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2025 นอกจากนี้ CATL ยังเตรียมจัดหาเซลล์แบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่แบบ Megapack ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จัดเก็บพลังงาน ให้กับโรงงานของ Tesla ในเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ทั้งสองบริษัทยังอยู่ระหว่างการหารือถึงวิธีที่ CATL สามารถเพิ่มอุปทานเมื่อธุรกิจ Megapack เติบโตขึ้นอีกด้วย 

ขณะที่ Tencent บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดของจีนมีการลงทุนมหาศาลในสหรัฐฯ ตั้งแต่สตูดิโอ Fortnite อย่าง Epic Games Inc. ไปจนถึง Activision Blizzard Inc. บริษัทที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอย่าง Pony Ma ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตและภาคเอกชนรายหนึ่งในจีนที่พัฒนาแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งอีลอน มัสก์ยึดถือเป็นต้นแบบของ X

"บทบาทของ CATL ในภาคส่วนแบตเตอรี่สะท้อนถึงบทบาทของ Huawei ในภาคโทรคมนาคม ที่โดดเด่นในตลาดจนสหรัฐฯ กังวลว่าธุรกิจจีนจะครองความโดดเด่นซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในวงกว้าง" 

ทั้งนี้รายชื่อบัญชีดำมีที่มาจากคำสั่งที่ลงนามโดยทรัมป์ในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันลงทุนกับบริษัทจีนที่กองทัพเป็นเจ้าของหรือควบคุม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการควบคุมสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกว่าแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลปักกิ่ง อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมได้ระบุไว้ในเอกสารที่ยื่นต่อ Federal Register ว่าบริษัทที่รวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าวมีสิทธิ์ที่จะร้องขอการพิจารณาใหม่

โดยมีบริษัทจีนบางแห่งที่ต่อสู้เพื่อลบชื่อออกจากรายชื่อของตัวเองออกได้สำเร็จ ในปี 2021 อาทิ ยักษ์ใหญ่ด้านสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi ที่สามารถยกเลิกสถานะของการเป็นบริษัททางการทหารเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงบริษัทปัญญาประดิษฐ์หลายแห่ง เช่น Beijing Megvii Technology Co., China Marine Information Electronics Co., China Railway Construction Corp., China State Construction Group Co., China Telecommunications Corp. และ ShenZhen Consys Science & Technology Co. เป็นต้น 

อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg , Reuters 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ