การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล กลับมาเป็นประเด็นอ่อนไหวที่เผชิญแรงต่อต้านอย่างหนักจากคนไทยอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้น VAT จากปัจจุบัน 7% เป็น 15% เพื่อให้สอดคล้องกับสากล เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในอาเซียน
ล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเซียก็เผชิญแรงต่อต้านไม่แพ้กัน จนต้องปรับแผนอย่างกะทันหันในช่วงวันปีใหม่ ชะลอการปรับขึ้น VAT เป็น 12% ทุกประเภทสินค้าและบริการซึ่งจะต้องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 หันมาปรับขึ้นเฉพาะประเภทสินค้าและบริการฟุ่มเฟือย สำหรับคนรวยเป็นหลัก รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การตัดสินใจชะลอการขึ้น VAT ของประธานาธิบดีบราโบโว ซูเบียนโน (Prabowo Subianto) เกิดขึ้นหลังจากการภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านและชี้แจงถึงผลเสียที่ตามมา โดยตัวแทนสหภาพแรงงานมองว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราที่สูงที่สุดในอาเซียนแล้ว การปรับขึ้น VAT เป็น 12% จาก 11% จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นและยอดขายลดลงประมาณ 10% เนื่องจากลูกค้ารัดเข็มขัดการใช้จ่าย ซ้ำเติมกำลังซื้อที่อ่อนแอลง และการเลิกจ้างงานในภาคการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงหลังโควิด โดย GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 โตต่ำสุดในรอบหนึ่งปี
ที่น่ากังวลไปกว่านั้น ปัญหาการเลิกจ้างงานเป็นวงกว้าง ผลักดันให้คนเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น แต่รายได้น้อยลง ส่งผลให้สัดส่วนชนชั้นกลางลดลงเหลือ 17% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในปี 2024 ทั้งนี้นักวิชาการบางส่วนยังให้ความเห็นว่า การปรับขึ้น VAT ครั้งแรก เป็น 11% จาก 10% ในปี 2022 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันกำลังซื้อประชาชน
ทั้งนี้แม้การชะลอปรับขึ้น VAT จะส่งผลดีต่อ sentiment การบริโภคในระยะสั้น แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายกะทันหัน จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน สร้างความไม่แน่นอนต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่มีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม มากถึง 28% ของรายได้ทั้งหมด มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ 21% และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ 25%
อย่างไรก็ตาม การจำกัดขึ้น VAT 12% เฉพาะสินค้าและบริการฟุ่มเฟือย คาดว่าจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้น้อยลง เหลือเพียง 3.2 ล้านล้านรูเปียห์(198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากเดิมที่คาดว่าจะเก็บได้มากถึง 75 ล้านล้านรูเปียห์ (4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) Mukhamad Misbakhun ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภา ซึ่งดูแลกิจการการเงิน กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney