สิงคโปร์-มาเลเซีย ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผสานจุดแข็ง ดึงดูดทุนต่างชาติ หวังสำเร็จตามรอย "เซินเจิ้น"

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สิงคโปร์-มาเลเซีย ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผสานจุดแข็ง ดึงดูดทุนต่างชาติ หวังสำเร็จตามรอย "เซินเจิ้น"

Date Time: 7 ม.ค. 2568 15:18 น.

Video

ไทยฝันเป็น “ฮับการเงิน” แต่จะไปให้ถึงยังไงดี ? | Digital Frontiers

Summary

  • สิงคโปร์-มาเลเซีย บรรลุข้อตกลง จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย ผสานจุดแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้า-เทคโนโลยี ตามรอย "เซินเจิ้น" คาดสร้างงานใหม่ 100,000 ตำแหน่งภายในปี 2030

สิงคโปร์และมาเลเซียลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (Johor-Singapore Special Economic Zone – JS-SEZ) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และผสานจุดแข็งเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อปั้นพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางการค้าและเทคโนโลยีแบบเมืองต้นแบบอย่าง “เซินเจิ้น” ของจีน

อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นประธานในพิธีเปิดเขตเศรษฐกิจในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย หลังจากที่การลงนามในเดือนธันวาคมถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ติดเชื้อโควิด-19

"นี่เป็นโครงการสำคัญที่สร้างขึ้นบนโครงสร้างที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างสิงคโปร์และยะโฮร์ เพื่อให้เราทั้งสองฝ่ายสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าและดึงดูดการลงทุนมายังประเทศของเรามากขึ้น" หว่องกล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม 2567 Gan Kim Yong รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์และนาย Rafizi Ramli รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวเป็นครั้งแรก

ในช่วง 5 ปีแรก สิงคโปร์และมาเลเซียตั้งเป้าหมายดึงดูดโครงการลงทุน 50 โครงการมายัง SEZ และจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 100 โครงการภายใน 10 ปี นอกจากนี้ยังเตรียมพิจารณาเสนอสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำที่สุดในอาเซียนที่ 17% ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%

ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2030 จะมีการสร้างงานใหม่มากถึง 100,000 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้มาเลเซียปีละ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขับเคลื่อนโดยเม็ดเงินลงทุนใหม่จากต่างชาติและบริษัทที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งขยายธุรกิจหรือย้ายฐานผลิตไปที่ยะโฮร์ ซึ่งมีที่ดินและตลาดการจ้างงานที่ใหญ่กว่าในเมือง

ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 3,500 ตารางกิโลเมตร (1,350 ตารางไมล์) คาดว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และมีขนาดใหญ่เกือบ 2 เท่าของเมืองเซินเจิ้นของจีน โดยเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คนเดินทางข้ามประเทศไปมาระหว่างกันทุกวัน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในยะโฮร์และทำงานในสิงคโปร์ โดยได้รับเงินเดือนเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ กระแสเงินที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ค่าเงินสิงคโปร์แข็งค่าขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับสกุลเงินริงกิตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ