ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องเผชิญกับการ lay off ครั้งใหญ่ต่อเนื่องตั้งแต่ 2566 ลากยาวจนถึงปีนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่มีการจ้างงานจนเฟ้อในช่วงโควิดและฟองสบู่แตก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง ผลักให้คนตกงานหลานล้านคน
แต่ในปี 2568 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ตลาดแรงงานจะค่อยๆ ปรับดีขึ้น เข้าสู่สภาวะปกติ สะท้อนจากความต้องการจ้างงานในตำแหน่ง HR หรือ ทรัพยากรบุคคลที่เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม
แม้การเปลี่ยนงาน คนเก่าไปคนใหม่มา จะเป็นเรื่องปกติที่บริษัทต้องเจอ แต่ในปี 2568 ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ผ่อนคลายลง เราอาจเห็นอัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากความไม่พอใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พนักงานหลายคนแก้แค้นด้วยการลาออก หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ “Revenge quitting”
Edel Holliday-Quinn นักจิตวิทยาด้านธุรกิจ กล่าวกับ Business Insider ว่า พนักงานบางคนรู้สึกหมดไฟและไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องมาจากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและการบังคับให้ทำงานเข้าออฟฟิศสลับ Hybrid
ดังนั้นในปี 2568 เมื่อตลาดแรงงานผ่อนคลายลง หลายคนจึงคิดว่า "ปีใหม่ ต้องเปลี่ยนงานใหม่" นี่อาจเป็นปีที่พวกเขาตัดสินใจลาออกจริงๆ ไม่ใช่แค่ quiet quitting เหมือนที่ผ่านมา
Businessolver บริษัทบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ได้ทำการสำรวจพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล และซีอีโอจำนวน 20,000 คน จาก 6 อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสถานะของความเห็นอกเห็นใจในที่ทำงาน จากรายงานพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 42% และซีอีโอ 52% บอกว่าพวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
Beth Hood ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Verosa แพลตฟอร์มอบรมความเป็นผู้นำและการจัดการ ให้ความเห็นว่า ความไม่พอใจของพนักงานนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว
“แรงจูงใจภายใน เช่น ความเชื่อมโยง ความหมาย และความรู้สึกปลอดภัยในการทำงาน มักจะค่อยๆ ลดน้อยลง เมื่อแรงจูงใจเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจ และแยกตัวออกจากสังคมการทำงาน จนทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกในที่สุด”
แนวคิดการทำงานที่แตกต่างในแต่ละช่วงวัย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ผลักดันให้พนักงานลาออกบ่อยขึ้นเช่นกัน โดยคน Gen Z มักลังเลที่จะทุ่มเทเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เนื่องจากมองว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นไม่คุ้มค่า
"พนักงานรุ่นใหม่ ไม่เต็มใจที่จะทนต่อวัฒนธรรมการทำงาน ที่ล้าสมัยหรือมีลำดับชั้นที่เข้มงวด บริษัทที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังเหล่านี้ จะประสบปัญหาในการรักษาบุคลากรรุ่นใหม่" Holliday-Quinn กล่าว
ดังนั้นเพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรนานขึ้น บริษัทจำเป็นต้องลงทุนฝึกฝนให้ผู้นำองค์กร สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยความเข้าใจและเห็นใจ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มักลาออกเพราะหัวหน้า ไม่ใช่บริษัท
สอดคล้องกับรายงานของ Businessolver ที่พบว่า ซีอีโอกว่า 55% เชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้นำด้วยความเห็นอกเห็นใจในการทำงาน แต่มีพนักงานเพียง 28% เท่านั้นที่เห็นด้วยจริงๆ
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney