เจาะอินไซต์ประเทศเพื่อนบ้าน ชิงความได้เปรียบ ดึงเม็ดเงินลงทุน สู่การเป็นฮับ EV-แบตเตอรี่อาเซียน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะอินไซต์ประเทศเพื่อนบ้าน ชิงความได้เปรียบ ดึงเม็ดเงินลงทุน สู่การเป็นฮับ EV-แบตเตอรี่อาเซียน

Date Time: 29 ก.ย. 2567 08:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เจาะลึกอินไซต์ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีแผนพัฒนาระบบนิเวศของ EV และแบตเตอรี่อย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต

อาเซียน กำลังอยู่ใน “ยุคทอง” ที่อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงระยะเวลา 5- 10 ปีเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ ด้วยข้อได้เปรียบหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นแหล่งของทรัพยากรธรรมชาติที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและทันสมัยในแต่ละประเทศ ตลาดที่กำลังเติบโต รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งหมดล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ระดับโลก

ในงานประชุม ASEAN Battery Technology Conference 2024 (ABTC 2024) ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับอาเซียน จัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ภายในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำอุตสาหกรรม และนักวิจัยด้านแบตเตอรี่จากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่

Thairath Money ได้มีการเจาะลึกอินไซต์ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีแผนพัฒนาระบบนิเวศของ EV และแบตเตอรี่อย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต

แนวโน้มอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เสาหลักค้ำยันระบบนิเวศ EV 

 ประเทศในอาเซียนมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นแหล่งของทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ทั้งสิ้น ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะต้องให้เติบโตควบคู่ไปกับระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

ความต้องการแบตเตอรี่ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั่วโลกจะสูงถึง 8,800 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2040 จากปัจจุบันปี 2024 อยู่ที่ 1,500 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงพลังงานหมุนเวียน การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 

ดังนั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ต้องอาศัยการจัดหาวัตถุดิบที่เพียงพอและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับพันธมิตรต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในการเข้าสู่ตลาดโลก 

อินโดนีเซีย : แหล่งแร่นิกเกิลใหญ่สุดในโลก 

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบอย่างมากจากการที่เป็นแหล่งนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างมากในการผลิตแบตเตอรี่  โดยอินโดนีเซียมีเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งคาดว่าในปี 2026 นี้อินโดนีเซียจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเซลล์แบตเตอรี่ให้มีกำลังการผลิตถึง 15 GWh และจะเติบโตเป็น 45 GWh ภายในปี 2030 

สำหรับอินโดนีเซียได้มุ่งเน้นที่การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งในด้านวัตถุดิบ โดยรัฐบาลได้จัดตั้ง Indonesia Battery Corporation (IBC) เพื่อผลักดันระบบนิเวศแบตเตอรี่และ EV ในประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมครบวงจร 

ตั้งแต่กระบวนการถลุงแร่ผ่านการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตอย่าง : โรงงานถลุงแร่ (Smelting) โรงงานรีไฟเนอรี่ (Refinery) และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ การผลิตส่วนประกอบแบตเตอรี่: ตั้งแต่การผลิต Cathode Active Materials (CAM) ไปจนถึงการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (Cell Manufacturing) และแพ็คแบตเตอรี่สำหรับ ตลอดจน การสร้างความยั่งยืน: การรีไซเคิลแบตเตอรี่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยี EV Swap สำหรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่ในยานพาหนะ

นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียยังให้การสนับสนุนด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ทำให้อินโดนีเซียสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

ฟิลิปปินส์ : สร้างโอกาสให้ประเทศ จากการออกแบบนโยบาย 

ปัจจุบันรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 2009 โดยเริ่มจากโครงการนำร่อง "Makati eJeepney/Green Route" ซึ่งเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ ต่อมาในปี 2021 ได้มีการจัดงาน Philippine EV Summit เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม

นอกจากนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายสำคัญอย่าง EVIDA Law และสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนของสถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Infrastructure) ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

โดยหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในฟิลิปปินส์คือการออกแบบนโยบาย Electric Vehicle Incentive Strategy (EVIS) ซึ่งเป็นแนวทางการสนับสนุนแบบบูรณาการทั้งในรูปแบบของการลดภาษีและการสนับสนุนการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างต้นทุนระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ทั่วไป รวมถึงยังมีมาตรการส่งเสริมต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า การลดค่าธรรมเนียมรถยนต์ และการให้สิทธิพิเศษในการจดทะเบียนและการขออนุญาตในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ดีการสนับสนุนในรูปแบบนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนแบตเตอรี่หันมาลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยเฉพาะการ ที่รัฐบาลมีการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนแบตเตอรี่และอุปกรณ์สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า นโยบายเหล่านี้ทำให้ฟิลิปปินส์มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้

สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ฟิลิปปินส์กำลังมุ่งไปที่การสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ส่วนประกอบต่างๆ ไปจนถึงการประกอบและรีไซเคิลแพ็คแบตเตอรี่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงานให้กับประเทศ 

สรุป

ประเทศในอาเซียนกำลังแข่งขันกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยใช้นโยบายสนับสนุนและมาตรการจูงใจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น การดึงดูดการลงทุนต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ตลอดจนการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อม

อาเซียนมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม EV และแบตเตอรี่ในอนาคต อย่างไรก็ตามจากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมานั้น หากเป้าหมายคือ ตลาดโลก ในการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแต่ละประเทศต่างมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบเฉพาะตัว การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เพราะถ้าหากทุกประเทศในอาเซียนพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเอง อาจเกิดซัพพลายเกินพอดี ดังนั้นความร่วมมือจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและแข่งขันในตลาดได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ