ส่องแนวคิด CEO ระดับโลก เอาตัวรอดอย่างไร ยุคสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบในเกมสั้น จีนชนะเกมยาว

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่องแนวคิด CEO ระดับโลก เอาตัวรอดอย่างไร ยุคสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบในเกมสั้น จีนชนะเกมยาว

Date Time: 20 พ.ย. 2567 17:22 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • Thairath Money สรุปไฮไลต์สำคัญในงาน Forbes Global CEO Conference 2024 หัวข้อ “Reframing The Global Economy” เผยมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ ภายใต้กรอบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป

Latest


นับตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิดในปี 2562 ได้เร่งพลวัตโลกให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนรอบด้าน จากการเข้ามาดิสรัปของเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคโลกหลายขั้ว (Multipolar World) เนื่องจากการแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

วันนี้ 20 พ.ย. 2567 มีงานประชุมใหญ่ระดับนานาชาติในประเทศไทยคืองาน Forbes Global CEO Conference 2024 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม "New Paradigms" กระบวนทัศน์เศรษฐกิจใหม่ โดยมีบรรดาซีอีโอระดับโลก ผู้นำทางความคิด ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จำนวนกว่า 400 ชีวิต ร่วมถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองเชิงลึก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง ในโลกแห่งอนาคต

Thairath Money สรุปสาระสำคัญในการบรรยายหัวข้อ “Reframing The Global Economy” เผยมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ ภายใต้กรอบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป

เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ไปอย่างไรต่อ

Ho Kwon Ping, Founder and Executive Chairman, Banyan Tree Holdings กล่าวว่า ในยุคสงครามการค้า สหรัฐฯ หันมาใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษี เพื่อสกัดการเติบโตของจีนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ 1. จีนจะแพ้ในระยะสั้นจากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ แต่จะชนะในระยะยาวจากเปลี่ยนผ่านโมเดลเศรษฐกิจลดการพึ่งพาการบริโภค หันมาเติบโตด้วยการยกระดับอุตสาหกรรม 2. สหรัฐอเมริกาจะชนะในระยะสั้นจากนโยบายกำแพงภาษี ยุโรปจะแพ้ในระยะยาว หากสงครามดำเนินต่อไป

ดังนั้นธุรกิจต้องเตรียมรับมือแนวคิด Make America Great Again จากสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่แนวคิด หรือข้อปฏิบัติด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

V Shankar, CEO and Cofounder, Gateway Partners มองว่า การปรับกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจ มีจุดเปลี่ยนดังนี้

1. โลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจจบแล้ว 2. ปัจจุบันเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคโลกหลายขั้ว (Multipolar World) โลกผ่านช่วงการตื่นรู้ทางสังคม (Woke) ไปแล้ว และกำลังกลับไปสู่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative).

ขณะที่ John Studzinski, Vice Chairman and Managing Director, PIMCO ประเมินแนวโน้มทิศทางและปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจของธุรกิจในปี 2568 ว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมองหาโอกาสในตลาดใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ การค้าเสรี ทำให้เงินทุนหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แต่ละประเทศจะมีความพัวพันเชื่อมโยงกันในหลายด้าน ดังนั้นจึงต้องมองทิศทางให้ออกว่าเงินจะไหลไปตลาดไหน

อาเซียนร่วมใจ ทางรอดสงครามการค้า

สำหรับแนวโน้มการค้าโลก ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์นั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เนื่องจากทรัมป์ เป็นผู้นำที่มักเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ อย่างกระทันหัน แต่ภายใต้บริบทการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีน จะผลักดันให้เอเชียกลับมาร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า โดยอาเซียนจะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่การยกระดับด้านการค้า

จะเห็นได้จากปัจจุบันเอเชีย เริ่มลดสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และหันมาส่งออกระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าเอเชียมีการกระจายความเสี่ยง ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพาการบริโภคจากสหรัฐฯ ในอดีต

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ