อินเดียเตรียมเปิดทาง โอบรับทุนจีนเข้าประเทศ หวังดันเศรษฐกิจ แม้ขาดดุลก็ไม่หวั่น เชื่อบาลานซ์ได้

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อินเดียเตรียมเปิดทาง โอบรับทุนจีนเข้าประเทศ หวังดันเศรษฐกิจ แม้ขาดดุลก็ไม่หวั่น เชื่อบาลานซ์ได้

Date Time: 10 ก.ย. 2567 14:15 น.

Video

RAVIPA จิวเวลรี่ มู มินิมอล ปั้นแบรนด์ไทยบนเวทีโลก | On The Rise

Summary

  • ตามนโยบาย "Made in India" ของรัฐบาลอินเดียที่จะผลักดันประเทศเป็นฐานการผลิตโลก แต่ความก้าวหน้าในด้านการลงทุนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงล่าช้า จนเกิดแนวคิดที่จะเปิดให้ทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศ ด้วยความหวังจะดันเศรษฐกิจให้โตขึ้น แม้ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศจะยังคงคุกรุ่น อีกทั้งยังมีความกังวลว่าสุดท้ายแล้วจีนจะเข้ามาแย่งอำนาจของการเป็นผู้ผลิตไป

การก้าวขึ้นมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียสมัยที่ 3 ของนเรนทรา โมดี ทำให้อินเดียในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก สามารถเดินหน้านโยบาย “Made in India” ตามแนวคิดของโมดีที่ต้องการจะทรานส์ฟอร์มประเทศให้กลายเป็นฐานด้านการผลิตของโลก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างการย้ายฐานผลิต iPhone รุ่นใหม่ของ Apple มาลงที่อินเดีย แต่ความก้าวหน้าในการลงทุนอุตสาหกรรม การสร้างงานในโรงงาน และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศยังคงล่าช้า

แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกนโยบายเป็นเงินสนับสนุนในอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงการตั้งกำแพงภาษีปกป้องการนำเข้า แต่หลายบริษัทในอินเดียกลับยังไม่สามารถบูสต์ความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ บวกกับเมื่อเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า การลงทุนจากภาคเอกชนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดยังลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

เตรียมลดกำแพง เปิดให้จีนเข้ามาลงทุนในประเทศ

ที่ผ่านมา มีการพูดคุยและเสนอให้อินเดียเปิดรับ “จีน” ให้เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศ โดยข้อเสนอจากบริษัทจีนมากมายที่จะพยายามยื่นขอเข้ามาทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ก็เคยขอเข้ามาลงทุน แต่กลับถูกชะลอหรือปฏิเสธในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากความขัดแย้งทางทหารที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ

ความพยายามของจีนในการยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่จะเข้าไปเพิ่มศักยภาพในอินเดียอย่างจริงจัง และยังเป็นความพยายามของจีนที่จะกระจายสินค้าในประเทศออกไป เนื่องจากเกิดความตึงเครียดทางการค้ากับตะวันตกและต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา มีสัญญาณออกมาต่อเนื่องว่า รัฐบาลของนเรนทรา โมดี จะมีการผ่อนคลายการควบคุมการลงทุนจากจีน โดยมีการเปิดเผยรายงานออกมาว่า กระทรวงการคลังของอินเดียหันมาสนับสนุนแนวคิดการเพิ่มการลงทุนจากจีน รวมไปถึงรัฐบาลกำลังมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการค้าและการลงทุน และได้มีการอนุมัติบางข้อเสนอจากธุรกิจจีนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้มีบางฝ่ายออกมาค้านว่า รายงานที่ออกมานั้น ไม่ได้เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการจากฝ่ายรัฐบาล ยังคงต้องรอฝั่งรัฐบาลพิจารณาถึงความเหมาะสม และต้องรอดูสถานการณ์เนื่องจากจีนยังคงอ้างสิทธิในดินแดนบางส่วนของอินเดีย แม้โมดีจะต้องการบูสต์เศรษฐกิจในประเทศด้วยการเปิดให้ธุรกิจเข้ามาก็ตาม

อินเดียประสบปัญหา “ขาดดุลการค้า” กับจีน

ประเด็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งระหว่างจีนกับอินเดีย คือ ความไม่สมดุลทางการค้าขนาดใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศ แม้ว่าการค้าระหว่างทั้งจีนและอินเดียจะเพิ่มขึ้น 4% จนมีมูลค่าที่ 118,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา แต่ฝั่งอินเดียกลับมีมูลค่าการส่งออกไปยังจีนที่ 16,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หรือคิดเป็น 14.1% ของทั้งหมด

ภาพจาก Nikkei Asia
ภาพจาก Nikkei Asia

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฝั่งอินเดียที่มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากจีน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่การส่งออกของอินเดียไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น แร่เหล็ก

อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นออกมาว่า หากอินเดียลดหย่อนกฎเกณฑ์ในการเข้ามาลงทุนของจีน อินเดียอาจจะสามารถลดความไม่สมดุลทางการค้าของ 2 ประเทศลงได้ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากอินเดียสามารถสร้างสมดุลทางการค้ากับจีนได้ ด้วยการเปิดให้จีนเข้ามาลงทุนในบางพื้นที่ จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจชาวอินเดียสามารถเรียนรู้วิธีการจากนักธุรกิจจีนได้อีกด้วย

ในทางกลับกัน ยังมีบางส่วนที่มองว่า อินเดียควรรักษาศักยภาพของตัวเองไว้ตามเดิม เพราะหากเปิดให้จีนเข้ามาลงทุน อินเดียอาจจะเป็นผู้สูญเสียอำนาจในฐานะผู้ผลิตไปเอง

ที่ผ่านมา อินเดียมีการตั้งกำแพงในการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากจีนมาต่อเนื่อง อย่างเช่น Xiaomi, Oppo และ Vivo ที่ถูกเพิ่มการเก็บภาษี ในขณะที่แอปพลิเคชันจีนบางตัว เช่น TikTok และ WeChat ก็ถูกแบนไม่ให้ใช้งานในประเทศ

ที่มา: Nikkei Asia

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์