ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เจอคู่แข่งใหม่ “ทุเรียนลาว” มีโอกาสตีตลาดจีน ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เจอคู่แข่งใหม่ “ทุเรียนลาว” มีโอกาสตีตลาดจีน ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน

Date Time: 27 ส.ค. 2567 14:53 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เจอคู่แข่งใหม่ “ทุเรียนลาว” ถูกเพาะปลูกมากขึ้น โอกาสตีตลาดจีนแข่ง ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน คาดปี 2572 ทั้งประเทศสามารถเก็บเกี่ยวได้ 24,300 ตัน

สปป.ลาว มีพื้นที่รวม 236,800 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน โดยลาวนับว่ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ “ที่ดิน” อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำน้อยใหญ่มากมาย แต่ที่ผ่านมา สปป.ลาว ประสบปัญหามากมายและไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าระหว่างประเทศมากนัก โดยเฉพาะการที่ สปป.ลาว ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งนี่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของ สปป.ลาว ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาว และรัฐบาลจีนได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น เส้นทางรถไฟลาว-จีน ทำให้สินค้าของ สปป.ลาว สามารถส่งไปยังตลาดใหญ่ของจีนได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการแก้ไขนิติกรรม ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมและผลักดันแก่ภาคการผลิต แปรรูป และการส่งออกสินค้าเกษตร

ซึ่งข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ไทย อ้างอิงรายงานข่าวของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า ปัจจุบัน รัฐบาลลาว หรือในนาม กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ได้ดำเนินการเจรจาซื้อ-ขายสินค้าเกษตรกับจีนกว่า 33 รายการ สำเร็จเรียบร้อยแล้ว 

สำหรับการผลิตทุเรียนของลาว ต้องยอมรับว่าอดีตเป็นสินค้าส่งออกที่ไม่โดดเด่น เนื่องจากความยากลำบากหลายๆ อย่าง แต่ปัจจุบันกระบวนการผลิตทุเรียนเป็นสินค้ามีความก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งและเป็นมืออาชีพมากขึ้น 

สปป.ลาว ปลูกทุเรียนได้มากขึ้น 


ซึ่งปัจจุบัน สปป.ลาว มีพื้นที่ปลูกทุเรียนภายใต้สมาคมปลูกทุเรียนลาว จำนวน 170 แห่ง มีพื้นที่รวม 20,000 เฮกตาร์ โดยในจำนวนนี้มีต้นที่เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 10,000 ต้น และมีผลผลิตประมาณ 900 ตัน 

เป้าหมายในปี 2572 คือการเก็บเกี่ยวประมาณ 270,000 ต้น โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ 24,300 ตัน มูลค่า 155,520,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในกลุ่มเกษตรกรปลูกทุเรียนลาวยังมีผู้เชี่ยวชาญในการปลูกและดูแลสวนทุเรียนแบบมืออาชีพอีกด้วย

ขณะที่ นักลงทุนจากประเทศจีนที่ได้ลงทุนในสวนทุเรียน สปป.ลาว กล่าวว่า เขานำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศมาเลเซีย กับต้นทุเรียนพื้นเมืองของลาว ซึ่งต้นทุเรียนในสวนมีคุณภาพดีมาก ที่ดินของ สปป.ลาว เหมาะที่จะปลูกทุเรียนเป็นสินค้า 

ทุเรียนลาว มีโอกาสตีตลาดจีน จากความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ 



ส่วน “ว่าน ชิน” ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ให้ข้อมูลว่า ตามสถิติของกรมศุลกากรจีน เปิดเผยว่าในปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 800,000 ตัน ปี 2566 จำนวน 1,300,000 ตัน และ ในช่วงต้นปี 2567 จำนวน 1,400,000 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 จะมีจำนวน 2,300,000 ตัน

ซึ่งจากสถิติจะเห็นได้ว่าชาวจีนมีการบริโภคทุเรียนมากขึ้น สำหรับประเทศจีน พื้นที่ปลูกทุเรียนได้นั้นอยู่ที่เกาะไหหลำ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกมาก แต่เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแล้วยังไม่พอต่อความต้องการ การนำเข้าส่วนใหญ่จึงมาจากไทย มาเลเซีย และเวียดนาม

นอกจากนี้ เขายังแสดงความคิดเห็นว่า ทุเรียนลาวมีโอกาสสูงที่จะสามารถไปตีตลาดในจีน แต่ผู้ประกอบการสวนทุเรียนลาวจะต้องใส่ใจในการสร้างมาตรฐาน ตั้งแต่การปลูก การดูแล การป้องกันศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การแปรรูป-การบรรจุ และการขนส่ง แต่ละกระบวนการต้องมีมาตรฐานที่ดี เพราะถือว่ายังเป็นมือใหม่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ