“ดอกเบี้ยสูง” กำลังฆ่า SME ไม่ใช่แค่ไทย ธุรกิจกลางเล็กสหรัฐฯ ทนไม่ไหว ยื่นล้มละลาย เกือบ 400 แห่ง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ดอกเบี้ยสูง” กำลังฆ่า SME ไม่ใช่แค่ไทย ธุรกิจกลางเล็กสหรัฐฯ ทนไม่ไหว ยื่นล้มละลาย เกือบ 400 แห่ง

Date Time: 16 ก.ค. 2567 16:17 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • อัตราดอกเบี้ยสูง กำลังฆ่า SME ไม่ใช่แค่ไทย ธุรกิจกลาง-เล็ก สหรัฐฯ แบกต้นทุนต่อไม่ไหว ขาดสภาพคล่องจากธนาคารเข้มปล่อยสินเชื่อ ครึ่งปีแรกบริษัทยื่นล้มละลายไปแล้ว 346 แห่ง สูงสุดในรอบ 13 ปี

Latest


ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เราจะเห็นเหล่าบริษัททั้งเล็กและใหญ่ยื่นล้มละลาย ปิดกิจการ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อไม่ไหว ขาดสภาพคล่อง จากการที่ธนาคารเข้มปล่อยสินเชื่อ รวมถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน เช่น ญี่ปุ่นที่จำนวนบริษัทยื่นล้มละลายทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี มาอยู่ที่ 4,931 บริษัท ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเกือบ 90% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก

ในขณะที่ไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้น 90% ต่อ GDP ส่งผลให้ล่าสุดในไตรมาส 1/2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่า ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จนขาดสภาพคล่อง และเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ


ล่าสุดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ ธุรกิจ SME ก็ส่อแววไม่รอด ข้อมูลล่าสุด ของ S&P Global Market Intelligence รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีบริษัทยื่นขอคุ้มครองล้มละลาย 346 แห่ง สูงสุดในรอบ 13 ปี เฉพาะในเดือนมิถุนายน มีบริษัทยื่นขอล้มละลายเพิ่มขึ้นเป็น 75 แห่ง เร่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วงต้นปี และส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง โดยกระจุกตัวในธุรกิจประเภท สินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ที่ไม่ได้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ยอดขายขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น เช่น ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ 


ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 13 ปี และยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนาน ที่ระดับ 5.25%-5.50% ไม่เพียงแต่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อบริหารสภาพคล่อง เป็นต้นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ เติมสต๊อกสินค้า จ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมถึงการขยายกิจการ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบยากขึ้น เนื่องจากธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์


สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดโดย Federal Reserve Bank of Kansas City ที่ระบุว่า ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ มองว่า เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้นเป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกัน และคุณภาพสินเชื่อลดลง อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า จำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลายมากขึ้นไม่ได้เป็นสัญญาณสะท้อนความเจ็บทางเศรษฐกิจระยะยาว แต่อาจเป็นการคลี่คลายความบิดเบือนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด


Josh Jamner นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของ ClearBridge Investments กล่าวกับ CNN ว่า “นี่อาจเป็นการทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด มีหลายมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีการยื่นขอคุ้มครองล้มละลายน้อยกว่าปกติ ในปี 2564-2565”


จำนวนบริษัทที่ล้มละลายเพิ่มขึ้น อาจสะท้อนถึงความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นใน บริษัทสหรัฐฯ Jamner กล่าวว่า จำนวนการยื่นขอเปิดกิจการใหม่ เร่งขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยเมื่อปี 2566 มีผู้ยื่นขอเปิดกิจการใหม่ ถึง 5.5 ล้านราย แม้ว่าอัตราดังกล่าวจะชะลอตัวลงในปี 2567 “ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ กำลังจะปิดตัวลง เรายังคงเห็นธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย” เขากล่าวเสริม

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ