จากกลุ่ม Kidult ซื้อ“Art Toy” สนองวัยเด็ก สู่ เศรษฐกิจเพื่อเยียวยา มูลค่าทะยานสู่ 7ล้านล้านดอลลาร์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จากกลุ่ม Kidult ซื้อ“Art Toy” สนองวัยเด็ก สู่ เศรษฐกิจเพื่อเยียวยา มูลค่าทะยานสู่ 7ล้านล้านดอลลาร์

Date Time: 25 พ.ย. 2567 16:00 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • จากกลุ่ม Kidult ซื้อ “Art Toy”สนองวัยเด็ก สู่ เศรษฐกิจเพื่อเยียวยา มูลค่าทั่วโลก กำลังทะยานสู่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อตุ๊กตา- สิ่งของ ช่วยบำบัดจิตใจ ในยุคที่หาความสุขได้ยากในสังคม

Latest


เป็นที่รับรู้กันว่า Art Toys ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นสะสมที่สวยงาม แต่ยังถูกนับเป็น 1 ในเครื่องมือการสื่อสารความรู้สึกของผู้คนในยุคนี้ ดั่งปรากฏความสำคัญในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในหัวข้อ Art Toys: พลังการสื่อสารใหม่ของคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า เหงา หรือสุข “Art Toys” ก็สามารถสื่อสารอารมณ์ร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ได้ดีมาก Art Toys จึงกลายเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยรับฟังและสะท้อนความรู้สึกของผู้สร้างและผู้สะสม เช่น ถ้ารู้สึกเศร้า Art Toy อย่าง "Cry Baby" ก็สามารถเป็นตัวแทนความรู้สึกนั้นได้

กลุ่มผู้ใหญ่หัวใจ "เด็ก" แรงขับเคลื่อนธุรกิจฮีลใจ 

ขณะกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ Art Toys และธุรกิจของเล่นกลายเป็นของสะสมที่มีคุณค่าและสร้างมูลค่าอย่างมหาศาล ยังมาจากกลุ่ม Kidult ที่มาจากคำว่า Kid (เด็ก) + Adult (ผู้ใหญ่) หรือผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ยังอยากสนุกกับความเป็นเด็ก เพื่อเยียวยาความอยากได้อยากมี แต่ไม่สามารถมีได้เมื่อครั้งตัวเองยังเป็น “เด็ก”

กำลังซื้อของกลุ่มนี้มีมหาศาล และเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมของเล่นทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ใหญ่ใจเด็กเท่านั้น ที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวไม่ได้โตเล่นๆ แต่รู้หรือไม่? ปัจจุบันคนไทยมีภาวะความเครียดสะสม และเข้าข่ายมีปัญหาสุขภาพจิตพุ่งสูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ยังระบุว่า 7 ใน 10 ของวัยทำงานคนไทย กำลัง “หมดไฟ” หลังเผชิญทั้งความกดดันทางสังคม เศรษฐกิจ และปัญหาในที่ทำงาน

นี่จึงกลายเป็นอีก 1 ตัวแปรใหญ่ ที่ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ถูกเรียกว่า “ฮีลใจ” สิ่งของ และบริการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อช่วยบำบัดความเครียด แก้อาการวิตกกังวล ทำให้เกิดความรู้สึกดี เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หมีเนย ฟีเวอร์ เพราะนี่ไม่ใช่ "หมี" แต่คือเพื่อนรักตัวน้อย

สะท้อนจากปรากฏการณ์ดังระเบิดของ “น้องหมีเนย” แห่งร้านขนม Butterbear คาแรคเตอร์ไทยที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศ ก่อเกิดกลุ่มมัมหมี อำนาจซื้อมหาศาล เมื่อนี่ไม่ใช่ตุ๊กตาหมี แต่คือลูก!

การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ Butterbear ยังถูกวิเคราะห์ว่า นอกจากเป็นการตลาดแบบใหม่ ที่ทำให้แบรนด์สามารถขยายช่องทางมีรายได้เพิ่มเติม จากการออกไลน์สินค้าใหม่ๆ เช่น กระเป๋าเป้ ที่ห้อยกระเป๋า สมุด แก้ว เสื้อ และสติกเกอร์

Mascot Marketing หมีเนย ยังไม่ต่างจากสะพานเชื่อมใจในยุคที่มีคนรู้สึกโดดเดี่ยว ภาพแฟนคลับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เมื่อได้เจอหมีเนยตัวเป็นๆ โอบกอด และมีปฏิสัมพันธ์กันเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็สามารถทำให้มีความสุขจนร้องไห้ออกมาได้แบบไม่อายใคร ประดุจเฝ้ารอเจอคนที่คิดถึงมายาวนาน

โดยผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุกับสื่อว่า ความโด่งดังของหมีเนย อีกนัยยังสะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมไทย และการที่หมีเนยยังมีชื่อเสียง ผ่านอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของแฟนคลับชาวจีนอย่างมาก ถึงกระทั่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากที่จัดโปรแกรมการมาเยี่ยมชมน้องหมีเนยในตารางท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ก็เพราะคนทั่วโลกมีความสุขน้อยลง ไม่ต่างจากคนไทยเช่นกัน

ซึ่งการสร้าง IP Character ให้เหมือนมีชีวิตและใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ โพสต์รูปภาพ แจ้งกิจกรรมและข่าวสารต่าง ๆ หรือนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ โดยจะโดยใช้ภาษาและรูปภาพต่าง ๆ โดยคงนิสัยของคาแรคเตอร์เอาไว้ เช่น น้องหมีเนยมีมักมีคอนเทนต์เต้น หรือส่งการบ้าน หรือทำกิจกรรมน่ารัก ๆ

การทำท่าทางและการแสดงออกที่สามารถสื่อความหมายได้ ทำให้ผู้ชมเข้าใจความหมายและอารมณ์ที่ตัวมาสคอตต้องการสื่อได้ ส่งผลหมีเนยประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะถูกมองว่าเป็น save zone ชั้นดี ที่ชวนให้ยิ้มและหัวเราะไปกับกิริยาท่าทางอันแสนจะธรรมชาติ น่ารัก และไม่มีพิษมีภัยเหมือนคนรอบข้างในชีวิตจริง

ความสำเร็จของ Jellycat ตอกย้ำ เศรษฐกิจเพื่อการเยียวยาโลกมูลค่าพุ่ง

Jellycat แบรนด์ตุ๊กตายอดฮิต ที่มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้อง จากความชื่นชอบเยลลี่และแมว ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2542 ก่อเกิดอาณาจักร Jellycat 250 รายการต่อปี ขยายธุรกิจครอบคลุม 77 ประเทศทั่วโลก ก็นับเป็นอีกโมเดลธุรกิจฮีลใจที่น่าศึกษา

โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานล่าสุดว่า Jellycat กำลังโด่งดังในประเทศจีนอย่างมาก โดยกลยุทธ์คุณภาพวัสดุการผลิตที่เป็นเลิศ การออกแบบที่สร้างสรรค์ และคุณค่าทางอารมณ์ต่อลูกค้า

ซึ่งแม้ตุ๊กตาขนนุ่มบางซีรีส์จะขาดตลาด และมีราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2567 มูลค่าการจำหน่ายของ Jellycat รวมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหมดอยู่ที่ 1.72 ร้อยล้านหยวน ถือว่าเป็นตัวแทนชั้นนำยอดฮิตในอุตสาหกรรมของเล่นตุ๊กตาในตลาดจีน

ทั้งนี้ จากข้อมูลความสำเร็จของ Jellycat ในตลาดจีนนั้น ภาคธุรกิจไทยควรนำมาศึกษาต่อยอด หลังจากมีข้อมูลปรากฏว่า อุตสาหกรรมเศรษฐกิจเพื่อการเยียวยาทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 10% ต่อปี โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก หากแต่กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ ควรเน้นการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ โดยอาศัยการสร้างเนื้อหาที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก และการร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลทางความคิด ที่มีภาพลักษณ์สอดคล้องกับแบรนด์ เป็นต้น

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ