Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
หาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง “ไทย” เสี่ยงโดนจีนทุ่มตลาดเพิ่ม SMEs เจ็บหนัก แบกต้นทุนรอบด้าน

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง “ไทย” เสี่ยงโดนจีนทุ่มตลาดเพิ่ม SMEs เจ็บหนัก แบกต้นทุนรอบด้าน

Date Time: 1 ก.ค. 2567 19:01 น.

Video

Money Power ในโลกที่คุณวางแผนเองได้ | KKP X Thairath Money

Summary

  • เลือกตั้งสหรัฐฯ เดือด ทั่วโลกจับตา “ทรัมป์” ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีคืนจาก ไบเดน พ.ย.นี้ “ไทย” เสี่ยงโดนจีนทุ่มตลาดเพิ่ม หนีสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีเข้ม 60% จีนหมดมุก ย้ายฐานการผลิต ลดค่าเงินหยวน ไม่ช่วย ผู้ประกอบการไทยรับจบ แบกต้นทุนรอบด้าน สู้ศึกสินค้าจีน

ปี 2567 นับว่าเป็นปีแห่ง “การเลือกตั้งผู้นำใหม่” ทั่วโลก โดยจะมีการเลือกตั้งระดับชาติ อย่างน้อย 60 ประเทศ เช่นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ไต้หวัน อินโดนีเซีย ที่จะเพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปเมื่อต้นปี หรือ “อินเดีย” ประเทศที่ทั่วโลกให้การจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน ภายในปี พ.ศ. 2573 ก็ได้ นเรนทรา โมดี เป็นผู้นำอินเดียสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ด้าน “สหรัฐอเมริกา” สถานการณ์กำลังดุเดือด หลังโจ ไบเดน ประธานาธิบดี และแคนดิเดตพรรค Democrat พ่ายแพ้ในการดีเบตครั้งแรก ให้กับอดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ แคนดิเดตพรรค Republican เมื่อคืนวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา (ตามเวลาสหรัฐฯ)


โดยผลสำรวจความคิดเห็นหลังการดีเบต พบว่า 62% ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้ทรัมป์ชนะการดีเบต ในขณะที่มีเพียง 30% เท่านั้นที่เลือกไบเดนเป็นผู้ชนะ ในศึกประชันวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ฟอร์มการดีเบตที่ถดถอยลงตามอายุ ยิ่งตอกย้ำว่า โจ ไบเดน ในวัย 81 ปี อาจถึงเวลาสละเก้าอี้ประธานาธิบดีให้คนที่พร้อมกว่า เข้ามาบริหารประเทศ 

และหลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นได้สูงที่ทรัมป์ จะกลับมานั่งตำแหน่งผู้นำอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง “ไทย” จะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสูง จากการพึ่งพาต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของ GDP หากเศรษฐกิจโลกแย่ ก็จะดึงให้การฟื้นตัวของเราแผ่วลงไปด้วย

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน


เปิดกลยุทธ์จีน “หนีกำแพงภาษีสหรัฐฯ” ทุ่มตลาดประเทศอาเซียน


มีการคาดการณ์ว่าหากทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ ด้วยอุดมการณ์ American First เน้นดำเนินนโยบายเอาผลประโยชน์ของคนในประเทศมาก่อน จะทำให้สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนสูงขึ้นถึง 60% แม้จะเป็นสินค้าสัญชาติจีน ที่ผลิตในต่างประเทศก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งซัพพลายเชน ดังนั้นเดือน พ.ย.นี้ จึงเป็นการชี้ทิศทางการค้าโลกว่าจะเป็นอย่างไรต่อ 


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางภาษี เพื่อปกป้องตลาดในประเทศ ก่อนหน้านี้ในปี 2544 สหรัฐฯ เคยนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนมากถึง 60% ต่อมาในปี 2555 ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากจีนที่ 25% ทำให้ตั้งแต่นั้นยอดนำเข้าแผงโซลาร์ จากจีนลดลง จนแต่ระดับ 0.06% ในปี 2566 ในขณะที่ยอดนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 75.64% อย่างไรก็ตามโรงงานผลิตส่วนใหญ่เป็นของคนจีน ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังอาเซียน ทั้งนี้ในอนาคตสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการกีดกันทางภาษีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้จีนเร่งระบายสินค้ากำลังการผลิตส่วนเกิน ไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นฐานการผลิต China+1 โดยเฉพาะตลาดอาเซียน 


ข้อดีหากสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางภาษีที่รุนแรงขึ้น จีนจะถูกกดดันให้ต้องใช้ทรัพยากรและกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จากประเทศที่เป็นฐานการผลิต โดยประเทศไทยจากที่เคยเป็นแค่ฐานประกอบชิ้นส่วน ก็จะต้องมีส่วนร่วม ในการผลิตในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทรัมป์ ริเริ่มสงครามการค้า สินค้าจีนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากใช้กลยุทธ์เลี่ยงกำแพงภาษีดังนี้


1. ย้ายฐานการผลิต กระจายความเสี่ยงซัพพลายเชน

2. แปะป้ายสินค้า บิดเบือนว่าไม่ได้มาจากจีน

3. ทำให้มูลค่าสินค้าต่ำกว่าราคาที่แท้จริง

4. การแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มรายได้จากการนำเข้า 


ปกติแล้วจีนจะใช้วิธีลดค่าเงินเพื่อชดเชยราคาสินค้าที่สูงขึ้น จากมาตรการภาษี ทั้งนี้หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 60% ขึ้นมาจริงๆ จีนจะไม่สามารถใช้วิธีลดค่าเงินมากถึง 60% ได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะทำให้หยวนอ่อนค่าลงเพียง 20% จากปัจจุบันที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 7.12 หยวน เป็น 8-8.50 หยวนต่อดอลลาร์ เมื่อเงินอ่อนค่า จีนจะเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยหนักกว่าเดิม

SME แบกต้นทุนรอบด้าน สู้ศึกสินค้าจีน 


นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ระหว่างปี 2564-2567 ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 37.6% โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงสุด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงโซลาร์ และเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย ต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ ท่ามกลางต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นทุกด้าน

ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น ตามนโยบายขึ้นค่าแรง 400 ทั่วประเทศ ที่จะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/2567 นี้ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้จะกระทบต่อผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น  


ยิ่งไปกว่านั้นหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไทยจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนใส่ตลาดประเทศที่ 3 โดยเฉพาะรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์