ถ้าพูดถึง “ญี่ปุ่น” จุดเด่นที่เป็นภาพจำของใครหลายคน คือ การเป็นเมืองแห่ง “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ไม่ว่า-จะเดินไปทางไหน ใกล้ไกลเท่าไรก็ต้องเจออย่างน้อย 1 ร้าน ด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และทำงานหนักถวายชีวิต ร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นบ้านขนาดย่อมที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนขาดไม่ได้ เพราะเป็นตัวช่วยให้พวกเขาได้อิ่มท้อง และเตรียมความพร้อมในชั่วโมงเร่งด่วน
แต่ช่วงหลายปีมานี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างชัดเจน สะท้อนจากจำนวนสาขาเปิดใหม่ ที่ชะลอตัวลง จากภาวะขาดแคลนแรงงาน และกำลังซื้อส่วนใหญ่ที่มาจากผู้สูงอายุ สอดคล้องกับ “วิกฤติสังคมสูงวัย” ในญี่ปุ่นที่สถานการณ์มีแนวโน้มเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติ (United Nation) ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยอย่างรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโมนาโก โดยเกือบ 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งหมายความว่า 1 ใน 3 ของคนญี่ปุ่นเป็นผู้สูงอายุ
อีกทั้ง National Institute of Population and Social Security Research ประเทศญี่ปุ่น ยังคาดว่าภายในปี พ.ศ.2613 ญี่ปุ่นจะเหลือประชากรไม่เกิน 87 ล้านคนจากประชากร จากปัจจุบันประมาณ 125 ล้านคน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน ปัญหาด้านสวัสดิการรัฐ และเงินบำนาญที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้จากภาษีที่น้อยลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์บริโภคที่เปลี่ยนไป
เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Seven & i Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ 7-Eleven ในญี่ปุ่น พบว่า จำนวนสาขาของ 3 แบรนด์ใหญ่อย่าง 7-Eleven, Lawson และ FamilyMart ในญี่ปุ่นค่อนข้างคงที่ โดย 7-Eleven มีการขยายสาขาเพียง 100 กว่าสาขาจากทั้งหมด 20,000 สาขา ด้าน Lawson มีการขยายสาขาเพียง 12 สาขา จาก 14,000 สาขา ขณะที่ FamilyMart ปิดสาขาไปมากถึง 271 สาขา สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
นอกจากนี้อุตสาหกรรมค้าปลีก ยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพนักงานอย่างหนัก ทำให้ 7-Eleven Japan หันมาเปิดสาขาแบบ "ไร้พนักงาน" แทน โดยเน้นเปิดร้านในพื้นที่คอนโดและโรงงาน ส่วน FamilyMart ก็ได้เริ่มนำระบบ Touch to Go ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบไร้พนักงานมาใช้ พร้อมกับลดเวลาการให้บริการ จาก 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดแข็งของร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่น เป็นระหว่าง 07.00-23.00 น.ต่อวันเท่านั้น การที่เหล่าธุรกิจรายใหญ่ เร่งปรับตัวอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมสูงวัย เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องหาทางรับมือ เพื่อรักษาความอยู่รอด
7-Eleven ถือเป็นเจ้าตลาดธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งมีกลยุทธ์การปรับตัวที่น่าสนใจ ท่ามกลางความปัญหาคนแก่ล้นเมือง และกำลังซื้อในประเทศที่ถดถอยลง โดยเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพ หน้าร้านที่มีอยู่ และหารายได้เพิ่มจากตลาดต่างประเทศ
1.เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ
ลงทุนในเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การใช้หุ่นยนต์ ในการจัดเรียงสินค้า และการใช้ระบบการสั่งซื้อแบบออนไลน์ ให้ลูกค้าสามารถ สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าและรับสินค้าที่หน้าร้านได้อย่างสะดวก
2.บริการสำหรับผู้สูงอายุ
ขยายบริการให้ครอบคลุมความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น การจัดส่งสินค้าไปยังบ้าน บริการช่วยเหลือในการซื้อสินค้า และการเพิ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูงและยาสามัญประจำบ้าน
3.การปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านค้า
เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ลดจำนวนสาขาในพื้นที่ที่มีคนน้อย และเพิ่มจำนวนร้านในพื้นที่เมืองใหญ่ ที่ยังคงมีความต้องการสูง
4.การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
เนื่องจากตลาดในประเทศถึงจุดอิ่มตัวและเผชิญข้อจำกัดหลายด้าน การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ผ่านการเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยง การพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว เช่น การเข้าซื้อกิจการ 7-Eleven ในออสเตรเลีย ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพสูงและหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทแม่ Seven & i Holdings ในญี่ปุ่น หรือการเข้าซื้อพื้นที่ปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น เพื่อขยายสาขา 7-Eleven ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแผนขยายสาขาไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งเต็มไปด้วยประชากรวัยทำงาน
5.การให้บริการชุมชน
Bloomberge เผยว่า 7-Eleven ได้ร่วมมือกับ Urban Renaissance Agency เปิดสาขาในอพาร์ตเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาล ทำให้ร้านสะดวกซื้อสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ได้โดยตรง บริการที่เพิ่มขึ้นนี้รวมถึงการทำความสะอาดห้อง ซ่อมแซมเสื้อผ้า และการออกกำลังกายในร้าน
การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจของร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น การลงทุนในเทคโนโลยี การขยายบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และการให้บริการชุมชน เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนและสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney