เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ของธนาคารกลางยุโรป หลังจากขยับขึ้นมาตลอด
ลดตามหลังธนาคารกลางแคนาดา, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ที่เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงก่อนหน้านี้ หลังจากที่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อหลังโควิด-19 ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วอัตราเงินเฟ้อในยุโรปจะยังสูงถึงร้อยละ 2.2 จากที่คาดไว้ว่าควรจะเป็นร้อยละ 2.0 แต่ก็ไม่เป็นข้อขัดข้องที่จะมาระงับการตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางยุโรปลงได้
เฟซบุ๊กของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังของประเทศไทยที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อมาเมื่อพ้นตำแหน่งก็กลับไปทำงานที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพาดหัวประโยคแรกว่า...
“ก้าวเล็กๆที่มีความหมาย...จุดเริ่มต้นของ Phase ใหม่”
ดร.กอบศักดิ์มองว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Phase ใหม่ของเศรษฐกิจโลก ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงการ “ฟื้นตัว” อีกครั้ง หากไม่มีการลุกลามจนเกินไป ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงฮึ่มๆกันอยู่อย่างน้อยก็ใน 2 บริเวณสำคัญของโลก
ท่านบอกว่า มีไม่กี่ครั้งที่โลกจะมีการลดดอกเบี้ยพร้อมๆกันในหลายๆประเทศ และเริ่มทยอยลดกันไปแล้วก่อนหน้านี้
ดร.กอบศักดิ์คาดว่าจะมีลดตามมาอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ
ส่วนของสหรัฐฯท่านก็เชื่อว่าจะลด เพียงแต่จะใช้เวลาตัดสินใจนานกว่าคนอื่นเล็กน้อยตามสไตล์สหรัฐฯ ที่ทำอะไรด้วยความระมัดระวัง
ดร.กอบศักดิ์ใช้คำพูดที่อ่านแล้วใจฟูว่า...จากนี้ไปควรจะเป็นช่วงที่เราได้ยินข่าวว่าคนโน้นลดดอกเบี้ยคนนี้ลดดอกเบี้ยไปอีกอย่างน้อยประมาณ 1 ปีกว่าๆ ประสานเสียงเป็น “คอรัส” ว่าอย่างนั้นเถิด
ท่านบอกด้วยว่า “การที่ทุกประเทศเข้าสู่ช่วงลดดอกเบี้ยพร้อมๆกันเช่นนี้ก็เหมือนกับทุกประเทศช่วยกัน เข็น เศรษฐกิจโลก ออกแรงร่วมใจกันอย่างที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ”
“การฟื้นตัวของกำลังใจและกำลังใช้จ่าย ตลอดจนการนำเข้าของทุกคนก็จะดีขึ้น...ดีกับการส่งออกของเราหลังลำบากกันมาหลายปี ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคนครับ”
ผมอ่านเฟซบุ๊กของ ดร.กอบศักดิ์เมื่อสายๆวันอาทิตย์ที่ผ่านมา...อ่านจบปั๊บก็หันไปอ่านข่าวเศรษฐกิจโลกประกอบอีก 2-3 ข่าว พบว่าเร่ิมมีความคาดหวังไปในทางดีแบบท่านด็อกเตอร์คาดไว้ แต่ก็ยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขบางอย่าง โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อซึ่งแม้จะลดลงแล้ว แต่ก็ยัง ค่อนข้างสูง เป็นที่กังวลใจของหลายๆฝ่าย
อย่างไรก็ดี การค่อยๆประกาศลดของประเทศโน้นทีหนึ่ง ประเทศนี้ ทีหนึ่ง อย่างที่ ดร.กอบศักดิ์เปรียบเทียบเหมือน “คอรัส” หรือการร้องเพลงประสานเสียงนั้น ผมเห็นด้วยกับท่านว่าเป็นปรากฏการณ์ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับโลก ที่นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง
จึงขออนุญาตที่จะมองโลกในแง่ดีเช่นเดียวกับ ดร.กอบศักดิ์ที่ว่าฟ้าของเศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มแง้มหรือค่อยๆเปิดขึ้นมาบ้างแล้ว
หากใช้สำนวนของพวกผมสื่อมวลชนที่เคยใช้อยู่บ่อยๆก็คือ เริ่มมองเห็น “แสงสว่าง” ที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้วรำไร
ขอให้เดินไปตามช่องทางของแสงสว่างที่เห็นอยู่ข้างหน้า ร่วมแรง ร่วมใจกันใช้ประโยชน์จากแสงสว่างอันน้อยนิดไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะได้ประโยชน์เต็มที่เมื่อแสงสว่างของโลกจ้าขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันก็ขอให้เผื่อใจไว้บ้าง เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์บางครั้งก็เหมือนศรีธนญชัย คือ เจ้าเล่ห์ เจ้ากล หลอกให้เราดีใจ ตายใจ แต่แล้วก็พลิกล็อกไปคนละเรื่อง กลายเป็นเสียใจในภายหลัง
นึกว่าจะเป็น “แสงสว่าง” ปลายอุโมงค์ คือ มีรูทะลุให้ออก...ที่ไหนได้แค่ตัว “หิ่งห้อย” บินอยู่ที่ปากอุโมงค์ที่ยังตีบตันมาหลอกเราเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นทางดีที่สุดก็คือ มองในแง่ดีไว้ก่อน คิดเอาไว้ก่อนว่าโลกเรากำลังจะดีแล้ว แต่ถ้ามันเกิดไม่ดีขึ้นมาอีกและยังหนักหนาสาหัสต่อไปอีกจะได้ไม่เสียใจมาก...หันกลับมาก้มหน้าแก้ปัญหากันต่อไป.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม