ทำไมกูเกิลจึงเลือกมาเลเซีย

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทำไมกูเกิลจึงเลือกมาเลเซีย

Date Time: 5 มิ.ย. 2567 06:15 น.

Summary

  • 30 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Google ประกาศเตรียมลงทุนในมาเลเซีย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 72,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล Data Center และระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค Cloud Region เพื่อสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรม

Latest

ส่องแนวคิด CEO ระดับโลก เอาตัวรอดอย่างไร ยุคสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบในเกมสั้น จีนชนะเกมยาว

30 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Google ประกาศเตรียมลงทุนในมาเลเซีย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 72,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล Data Center และระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค Cloud Region เพื่อสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรม นายรูธ โพรัท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกูเกิล บอกว่า การลงทุนในมาเลเซียครั้งนี้ เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดของกูเกิลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน

Data Center และ Cloud Region ของกูเกิล จะตั้งที่ Sime Darby Property’s Elmina Business Park ในรัฐเซลังงอร์ตอนกลางจะเป็นศูนย์ขับเคลื่อนบริการต่างๆของกูเกิล ทั้งการค้นหาแผนที่และการส่งมอบบริการเอไอให้แก่บริษัทท้องถิ่นและองค์กรภาครัฐ

ทำไม Google จึงเลือกลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่มาเลเซีย ทั้งที่ไทยก็มีข้อเสนอดีๆมากมาย นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็อุตส่าห์เป็นเซลส์แมนบินไปเจรจากับผู้บริหารบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ แต่กูเกิลกลับเลือกไปลงทุนที่มาเลเซีย รวมทั้ง ไมโครซอฟท์ ที่ นายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอมา โปรยยาหอมที่เมืองไทย ก็ไปประกาศลงทุนที่มาเลเซียอีก 2,200 ล้านดอลลาร์ ราว 80,000 ล้านบาท เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ลงทุนด้านเอไอและคลาวน์คอมพิวติ้ง Nvidia บริษัทผลิตชิพยักษ์ใหญ่โลกก็ประกาศไปลงทุนที่มาเลเซียมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์ ราว 160,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเอไอ

เห็นข่าวแล้วก็น้อยใจ ทำไมบริษัทเทคยักษ์ใหญ่จึงพากันเลือกมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย แต่ไม่เลือกไทย ล่าสุด นายกฯเศรษฐา ถึงกับประกาศว่า “ไม่มีเวลาไหนดีไปกว่านี้ที่จะลงทุนในไทยอีกแล้ว” แต่ก็ไม่มีใครมา คุณชัย วัชรงค์ โฆษกสำนักนายกฯ ก็ประกาศย้ำ ไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ผ่านการจัดอีเวนต์ Digital Governance Thailand 2024 แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับ เขาคงเห็นว่ารัฐบาลไทย “เก่งแต่จัดงานอีเวนต์” มากกว่าทำงานอย่างจริงจังมั้ง

ก่อนที่ Google จะประกาศลงทุนในมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติใหม่ชื่อ “ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ” (National Semiconductor Strategy) เพื่อปั้นให้มาเลเซียเป็น “ศูนย์การผลิตชิพระดับโลก” (Global Chip Hub) ด้วยการทุ่มทุนฝึกอบรม “วิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ชาวมาเลย์ที่มีทักษะสูง” จำนวน 60,000 คน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต

นายกฯมาเลย์ ยังได้ประกาศจุดยืนเป็น Neutral Hub สำหรับ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อแก้ปัญหา supply chain จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง สหรัฐฯ กับ จีน

ยังไม่หมด นายกฯมาเลเซีย ยังประกาศ จะจัดสรรเงินอีกอย่างน้อยปีละ 25,000 ล้านริงกิต ราว 190,000 ล้านบาท ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อบ่มเพาะคนเก่งชาวมาเลเซีย บ่มเพาะบริษัทเทคโนโลยีของมาเลเซีย รองรับการเป็นฮับการผลิตชิพโลก รวมทั้ง จะทุ่มเงินลงทุนอีกราว 500,000 ล้านริงกิต เกือบ 4 ล้านล้านบาท ทั้งจากการลงทุนโดยตรงในประเทศและเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อการเป็นฮับ

ฟังแผนงานของ รัฐบาลมาเลเซีย แล้ว ก็ไม่แปลกใจที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่โลกอย่าง กูเกิล ไมโครซอฟท์ แอมะซอน เอ็นวีเดีย ฯลฯ จะแห่ไปลงทุนในมาเลเซียกันมากมาย

ถามว่า รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ชาติ มีการลงทุนแบบนี้ไหม คำตอบคือ “ไม่มี” วันนี้ประเทศไทยคงไม่ต้องไปฝันถึงการสร้าง “วิศวกรทักษะสูง” เป็นหมื่นๆคน เราคงไปไม่ถึง เอาแค่ “ทักษะภาษาอังกฤษ” คนไทยก็รั้งท้ายอาเซียนแล้ว สูงขึ้นไปอีกนิด “ทักษะดิจิทัล” คนไทยก็อยู่อันดับ 39 จาก 63 ประเทศ ล่าสุด สภาพัฒน์ เพิ่งแถลงผลสำรวจหมาดๆ ทักษะเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทย พบว่า 64.7% รู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ 74.1% ทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ เห็นข้อมูลแล้วก็เศร้าใจ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งพัฒนาการศึกษาไทยที่ล้าหลัง ทุกเรื่องที่หาเสียงไว้มันคือ “สายลมที่พัดผ่าน” คนไทยจะยัง “โง่จนเจ็บ” รอรับ “เงินแจก” ต่อไป หรือรัฐบาลคิดว่าโง่แล้วปกครองง่ายดี?

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ