อินเดียเปิดทางให้บริษัทต่างๆ สร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่งด้วยเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านรูปี (หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ตามเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปรายสำคัญของโลก
โดยอินเดียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปเช่นเดียวกับ จีน ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ และอยู่ระหว่างการชักชวนบริษัทจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน พร้อมคาดการณ์ตลาดเซมิคอนดักเตอร์จะมีมูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2026 ซึ่งปัจจุบันอินเดียยังไม่มีโรงงานผลิตในประเทศ
Ashwini Vaishnaw รัฐมนตรีกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดียเผยว่า การก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์จะเริ่มขึ้นภายในระยะเวลา 100 วันหลังจากนี้ พร้อมเสริมว่าจะมีการผลิตและบรรจุชิปสำหรับใช้ในภาคส่วนต่างๆ อย่างเช่นยานยนต์และโทรคมนาคม เป็นต้น
นอกจากนี้ Vaishnaw ยังระบุกับผู้สื่อข่าวว่านี่ถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของประเทศทั้งเป็นการบรรลุเป้าหมายสำคัญในการทำให้อินเดียเป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเองได้
โดย Tata Group จะร่วมกับ Powerchip บริษัทผู้ผลิตชิปจากไต้หวันเพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในอินเดียมูลค่า 9.1 แสนล้านรูปี (หรือประมาณ 3.9 แสนล้านบาท) ในเมือง Dholera รัฐคุชราตทางภาคตะวันตกของอินเดีย
ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตแผงวงจรได้เดือนละกว่า 50,000 ชิ้น พร้อมตั้งเป้าผลิตชิปถึง 3 พันล้านชิ้นในแต่ละปี เพื่อส่งให้กับตลาดที่แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นการใช้สำหรับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่โทรคมนาคม
ขณะที่ CG Power ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทวิศวกรรมจะร่วมมือกับ Renesas Electronics Corp บริษัทผู้ผลิตชิปจากญี่ปุ่น และบริษัท Stars Microelectronics ผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากไทยในการลงทุนสำหรับโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิป 7.6 หมื่นล้านรูปี (หรือประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ในรัฐเดียวกัน
และฐานการผลิตแห่งที่สามจะตั้งในรัฐอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียโดยเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิปมูลค่าการลงทุน 2.7 แสนล้านรูปี (หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท)
อ้างอิง