ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าแบรนด์หรูระดับโลกต่างพากันมาเปิดช็อป และดึงศิลปิน ดาราไทย เป็นพรีเซนเตอร์ เช่น แบรนด์ Dior ที่ดึงคู่จิ้นคิวทองอย่าง มาย ภาคภูมิ ร่มไทรทอง และอาโป ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ มาเป็น Brand Ambassador ที่โด่งดังจากซีรีส์วายเรื่องดัง KinnPorsche ที่สร้างปรากฏการณ์ความฟินไปทั่วบ้านทั่วเมือง เมื่อปี 2565 หรือการดึงนักแสดง นางแบบชื่อดังอย่าง ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์สำหรับ Gucci และ Gucci Beauty
คนดังไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ประเทศไทยถูกจับตาจากบรรดาแบรนด์หรูระดับโลก แต่ยังรวมถึงมูลค่าตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของประเทศไทย ที่คาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 5.62% จากประมาณ 4.64 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567-2571 Angelito Perez Tan, Jr. ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ RTG Group Asia กล่าว
แม้ว่าสิงคโปร์จะถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและการช็อปปิ้งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มุ่งมั่นที่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งความหรูหราอันดับต้นๆ และมีขนาดตลาดแบรนด์หรูแซงหน้าสิงคโปร์ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 4.06 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ช้าลงที่ประมาณ 3.49% ระหว่างปี 2566-2571
แม้ว่ามูลค่าจะใกล้เคียงกัน แต่ทั้งสองตลาดก็ได้รับแรงกระตุ้นจากการค้าปลีกแบรนด์หรูในประเภทที่แตกต่างกันมาก โดยประเทศไทยมีตลาดแฟชั่นแบรนด์หรูที่ขนาดใหญ่กว่า และสามารถสร้างรายได้สำคัญจากภาคธุรกิจนี้ ในขณะที่สิงคโปร์ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนสินค้าหรูในหมวดนาฬิกาและเครื่องประดับ
นอกจากนี้ การค้าปลีกแบรนด์หรูในประเทศไทยขับเคลื่อนโดยคนในท้องถิ่น ในขณะที่สิงคโปร์ขับเคลื่อนโดยการบริโภคจากนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์นี้อาจเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนโยบายฟรีวีซ่าไทย-จีน
ณิชาภัทร สุภาพ เจ้าของ The Venture Management ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซี่ ชั้นนำที่เน้นประสานงานและเลือกเฟ้นศิลปินไทยให้แมตช์กับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของยุโรป ให้ความเห็นว่า นักแสดงซีรีส์วายเป็นกลุ่มคนดังที่สามารถดึงดูดให้คนมาซื้อของแบรนด์เนมตามได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าการใช้คนดังเพื่อโปรโมตแบรนด์ มีส่วนช่วยในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นการขายสำหรับแบรนด์หรูอย่างแน่นอน
เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มแฟนคลับ หรือแฟนด้อมของเหล่าศิลปิน ดาราไทย ขึ้นชื่อเรื่องความภักดี และกระตุ้นยอดขายด้วยการตามซื้อของที่คนดังที่ตนชื่นชอบเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในตลาดแบรนด์หรูไทย ทำให้กลุ่มแฟนคลับที่มีความมั่งคั่ง มีขนาดเล็กกว่ากลุ่มแฟนคลับในสิงคโปร์
นอกจากจะซื้อสินค้าแบรนด์เนมตามคนดังที่ชื่นชอบแล้ว คนรุ่นใหม่ยังมองหาสินค้าที่เป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดีย Umaporn Whittaker-Thompson รองประธานการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารบริษัท Vero ที่ปรึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า
“กลุ่มประชากรและผู้ประกอบการที่อายุน้อย ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผู้บริโภคที่รีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์ม เช่น TikTok โดยพวกเขากระตือรือร้นที่จะครอบครองสินค้าแบรนด์เนมเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง และสำหรับการลงทุนระยะยาว พวกเขาเชื่อในคุณค่าและศักดิ์ศรีที่ผูกติดกับสินค้าแบรนด์เนม ที่มีคุณภาพสินค้าเหนือระดับ ทนทาน แม้ว่าต้นทุนจะสูงมากก็ตาม”
การตามเทรนด์ของนักช็อปชาวไทย มักมาพร้อมกับการค้นพบของประสบการณ์แปลกใหม่
Umaporn กล่าวว่า ถ้ามองว่าการซื้อแบรนด์หรูเป็นการให้รางวัลประสบการณ์กับตัวเอง
“การใช้เวลาในร้านค้าที่ให้บรรยากาศที่สร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางการช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์หรูในปัจจุบัน”
ประภาศรี วสุหิรัญ รองประธานฝ่าย Consumer Experience ของ Vero ประเทศไทย กล่าวว่า
“นอกเหนือจากการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ระหว่างการช็อปปิ้งแล้ว คนไทยที่มีฐานะร่ำรวย ยังมีความต้องการที่จะช็อปปิ้งจากออนไลน์สู่ออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ”
ทั้งนี้ ช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งที่ช่วยบูรณาการเส้นทางการซื้อของนักช็อปชาวไทยที่มีฐานะร่ำรวยทุกแง่มุม ตั้งแต่การค้นพบผลิตภัณฑ์และบริการ ไปจนถึงการรวบรวมข้อมูล อ่านบทวิจารณ์ของผู้ใช้ การตัดสินใจซื้อ และการเสนอ feedback ที่เกิดขึ้นบนช่องทางออนไลน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Line ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีความน่าเชื่อถือในการซื้อสินค้าแบรนด์หรู เนื่องด้วยเป็นแพลตฟอร์มรับส่งข้อความยอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทย ที่มีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านคน ซึ่ง Line ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นช่องทางการขายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สามารถถ่ายไลฟ์สตรีมและเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney