รัฐบาลจีน กำลังดำเนินการควบรวมกิจการธนาคารครั้งใหญ่ที่สุด โดยมีคำสั่ง ควบรวมธนาคารขนาดเล็กในชนบทหลายร้อยรายเข้าด้วยกัน เพื่อปรับโครงสร้างเป็นธนาคารใหญ่ระดับภูมิภาค ท่ามกลางสัญญาณความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น
ย้อนไป ตั้งแต่ปี 2565 รัฐบาลจีนได้เดินหน้าควบรวมสหกรณ์และธนาคารพาณิชย์ในชนบท อย่างน้อย 7 จังหวัด โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันกว่า 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ และการควบรวมธนาคารขนาดเล็กยังเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญสูงสุดในปีนี้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมธนาคารของจีน ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงการตกต่ำ ของภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมที่เปราะบาง ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารกว่า 2,100 แห่งในระบบสหกรณ์ชนบท พบว่า มีอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมยู่ที่ 3.48% ซึ่งสูงมากกว่าสองเท่าของอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศ
Liu Xiaochun รองผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า
“สถาบันการเงินขนาดเล็กเป็นจุดที่ความเสี่ยงกระจุกตัวมากที่สุด ดังนั้นจีนจึงผลักดันการปฏิรูปให้เร็วขึ้น และหนึ่งในทางออกที่สำคัญในการแก้ปัญหาความเสี่ยง คือการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่”
แม้ว่าการเกิดขึ้นของสหกรณ์และธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ที่กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญ ช่วยให้คนและธุรกิจในพื้นที่ด้อยพัฒนา สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่การขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมของธนาคารเหล่านี้ ได้สร้างปัญหาคอร์รัปชันเรื้อรัง ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมธนาคารจีนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ระหว่างปี 2559 และ 2565 จีนได้กำจัดหนี้เสียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของ GDP จากการปฏิรูประบบธนาคารครั้งใหญ่ แม้ว่าความพยายามเพื่อปราบปรามความเสี่ยงในอุตสาหกรรมธนาคาร จะสามารถลดจำนวนผู้ให้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 337 ราย ในเดือนมิถุนายน 2566 แต่ 96% ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กในชนบทและสหกรณ์ ตามรายงานของธนาคารกลางจีน
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney