สำนักข่าว CAIXIN รายงานว่า สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ของจีน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าการกู้ยืมจะชะลอตัวลง ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตที่อ่อนแอของเศรษฐกิจจีน
รายงานจาก สถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (National Institution for Finance And Development: NIFD) ระบุว่า หนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีน เพิ่มขึ้นเป็น 287.8% ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า 13.5 จุด
การขยายตัวของสัดส่วนหนี้สินโดยรวม ได้แซงหน้าการเติบโตของการกู้ยืม
โดยสัดส่วนหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.3 จุด เป็น 63.5% ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.9 จุด เป็น 168.4% ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้ภาครัฐขยายตัว 5.3 จุด เป็น 55.9%
ทั้งนี้ หนี้สินโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ช้าลงที่ 9.8% ในปี 2566 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปี 2565 และยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
“การขยายหนี้ที่จำกัด และอัตราการก่อหนี้ระดับมหภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 มีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ” NIFD กล่าว
ทั้งนี้ในรายงาน NIFD ได้เรียกร้องให้มีการสนับสนุนเชิงนโยบายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ การเติบโตของหนี้ที่ต่ำกว่า 10% บ่งชี้ถึงความต้องการทางการเงินที่ไม่เพียงพอในภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภค และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน
ยิ่งการเติบโตของหนี้ลดลงมากเท่าไร จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น
ทางออกเดียวในการควบคุมอัตราส่วนหนี้สิน คือการขยายความต้องการกู้ยืมที่มีประสิทธิภาพ และผลักดันการเติบโตของ Nominal GDP
NIFD ประเมินว่าหากการกู้ยืมทั้งหมดขยายตัว 10% และ Nominal GDP เพิ่มขึ้น 5% ในปี 2567 จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้น 14 จุด จนเกิน 300% และแนะนำให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการเติบโตของ Nominal GDP ที่ 7% รวมถึงจริงจังกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น หากยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว การทำเช่นนี้จะพลิกฟื้นความคาดหวังของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ.
อ้างอิง Caixin
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้