สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ไทยและเวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น หลังอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ประกาศงดส่งออกข้าวเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ทำให้หลายประเทศต้องหาแหล่งนำเข้าข้าวใหม่ทดแทน
โดยในปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวเป็นมูลค่าทั้งหมด 4.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี การส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ในขณะที่การส่งออกไปสิงคโปร์และกานา เพิ่มขึ้นประมาณ 40% และ 60% ตามลำดับ
ในแง่ของปริมาณ เวียดนามเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชีย แต่การผลผลิตในปี 2566 ที่ผ่านมา กลับเพิ่มขึ้น 1-2% จากปี 2565 มาอยู่ที่ 43 ล้านตัน
ด้านปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ทะลุ 8 ล้านตัน ในปี 2566 จากเดิมที่ส่งออกข้าวต่อปีที่ประมาณ 6-7 ล้านตัน
ในขณะที่ไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก คาดว่าจะส่งออกข้าวมากกว่า 8 ล้านตัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 และนับเป็นการส่งออกระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 แม้ว่าภัยแล้ง และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะทําให้การส่งออกข้าวลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
มาตรการงดส่งออกข้าวของอินเดีย ได้กระตุ้นให้หลายประเทศซึ่งเดิมเป็นลูกค้าของอินเดีย แสวงหาแหล่งนำเข้าข้าวใหม่ที่มีความมั่นคง จึงทำให้ความต้องการข้าวจากไทยและเวียดนาม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีความต้องการซื้อข้าวไทย 2 ล้านตัน โดยจะส่งคนมาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงต้นปี 2567
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าราคาข้าวจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากอินเดียอาจขยายมาตรการงดส่งออกข้าวไปยาวจนถึงหลังเลือกตั้ง อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบไปจนถึงกลางปี
อ้างอิง
Nikkeiasia
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney