จีนกำลังเผชิญกับสัดส่วนเงินทุนไหลออกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดจากรายงานของสำนักงานบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจีน (State Administration of Foreign Exchange) พบว่า ในเดือนกันยายนจีนมีเงินทุนไหลออกสุทธิสูงถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ นับเป็นการไหลออกของเงินทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 7 ปี 8 เดือน จากระดับ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมกราคม 2559
เงินทุนที่ไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง ได้รับแรงกดดันจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ บริษัทต่างชาติที่ลดขนาดการดําเนินธุรกิจในจีนลง ประกอบกับกลุ่มคนจีนที่ความมั่งคั่งสูงย้ายสินทรัพย์ไปลงทุนในต่างประเทศ สะท้อนผ่านความต้องการลงทุนที่มากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดอื่นๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว
สัดส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนกันยายน โดยมีการไหลออกสุทธิสูงถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดเงินทุนไหลออกทั้งหมด และเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
โทรุ นิชิฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Dai-ichi Life Research Institute ในโตเกียว กล่าวว่า
"บริษัทต่างชาติอาจเป็นปัจจัยที่เร่งการไหลออกของเงินทุนในจีน เนื่องจากความต้องการถอนตัวออกจากธุรกิจในจีน ทำให้มีการตัดขายสินทรัพย์"
เช่นเดียวกับบริษัทจีนที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังพบว่า จํานวนบริษัทต่างชาติในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ของจีน ลดลงแตะระดับต่ำสุด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 และยังคงทรงตัวตั้งแต่นั้นมา