นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีภารกิจเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านข้อตกลงทางการค้า ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองด้านการลงทุนมากที่สุด ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน
โดยระหว่างการเยือนเวียดนาม ไบเดน ได้พูดคุยกับ เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ลงนามร่วมกันในเอกสารข้อตกลง “การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้อยู่ในระดับสูงสุด
การเจรจาระหว่างผู้นําทั้งสอง นำมาซึ่งข้อตกลงทางธุรกิจขนาดใหญ่ โดย Vietnam Airlines สายการบินประจําชาติเวียดนาม ลงนามข้อตกลงซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max 50 ลำ ของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 7.8 พันล้านดอลลาร์ (2.8 แสนล้านบาท)
นอกจากนี้ FPT Software บริษัทเทคโนโลยีชั้นนําของเวียดนาม ยังได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Landing AI สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน
ด้านรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ Synopsys บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนําของสหรัฐฯ เพื่อร่วมมือกันยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ผ่านการอบรมเพิ่มความสามารถแรงงาน ในการออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ในอดีต สัดส่วนการลงทุนธุรกิจของสหรัฐฯ ในเวียดนามนั้นไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับการลงทุนของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชีย อย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ โดย ณ สิ้นปี 2565 การลงทุนโดยตรง (FDI) ของสหรัฐฯ ในเวียดนาม มีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าการลงทุนอยู่ในอันดับที่ 11 ยังตามหลังประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.9 ล้านล้านบาท), สิงคโปร์ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.5 ล้านล้านบาท), และญี่ปุ่น 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.4 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ
การมาเยือนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นการเปิดไฟเขียว ส่งสัญญาณให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งอาจกระตุ้นให้การลงทุนของสหรัฐฯ ในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น แม้จะต้องยอมรับว่าเวียดนามปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แบบพรรคเดียว ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ ยึดถือ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเวียดนาม โดยมองว่าหนึ่งในมิตรประเทศ และไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน
การยกระดับความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ จะช่วยผลักดันเป้าหมายของเวียดนาม ในการเปลี่ยนผ่านจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น เช่น การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ผ่านความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่โดดเด่นในด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์
ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมของเวียดนาม โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จัดการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 30,000 ถึง 50,000 คน
ทั้งนี้ ในปี 2567 เวียดนามจะเริ่มจัดเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศ ตามข้อตกลงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อผลักดันให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ จ่ายภาษีในอัตราที่เป็นธรรม จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมาก และป้องกันเงินทุนไหลออกจากเวียดนาม จากการหลีกเลี่ยงภาษี โดยการย้ายผลกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า
แม้การปรับใช้ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้เวียดนาม สามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการดึงดูดทุนต่างชาติ ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องพิจารณาการออกข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันต่อไปว่าความพยายามของเวียดนามในครั้งนี้ จะสามารถพาประเทศไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่
อ้างอิง