ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กรอบมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Yield Curve Control: YCC) เมื่อปลายเดือน ก.ค. ข่าวนี้เป็นที่สนใจกันมากเพราะตลาดการเงินโลกกังวลว่า หาก BOJ ปรับมาตรการ YCC จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นปรับสูงขึ้น เคลื่อนไหวตามกลไกตลาดพันธบัตรได้เยอะขึ้น ก็อาจเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นย้ายเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของประเทศต่างๆกลับมาซื้อตราสารในประเทศมากขึ้นเพราะจะเริ่มให้อัตราผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบ (หลังคำนึงถึงต้นทุนป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน) สูงขึ้น เงินเยนจะกลับมาแข็งค่า เกิด ripple effects เป็นปัจจัยทำให้ตลาดการเงินโลกและกระแสเม็ดเงินลงทุนในโลกผันผวนได้
BOJ เริ่มใช้มาตรการ YCC เป็นเครื่องมือผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมานานตั้งแต่ปี 2016 เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด โดยประกาศควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีไว้ที่ 0% และให้เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่ก็มีการปรับให้กรอบกว้างขึ้นมาเป็นระยะ เมื่อปลายปีก่อนได้ขยายกรอบเป็น ±0.5% (จากเดิมที่ ±0.25%) ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยโลกขาขึ้นแรงและเร็ว
ในครั้งนี้ BOJ สื่อสารว่า เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้มาตรการ YCC (YCC with greater flexibility) โดยออกแบบขยายขอบบนของกรอบ YCC ให้สูงขึ้นได้ถึง 1% และเรียกขอบบนเดิม 0.5% ว่าอัตราอ้างอิง (reference rate) อย่างไรก็ดี BOJ ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไว้ตามเดิมโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะข้ามคืนอยู่ที่-0.1% คำถามที่น่าสนใจคือ ท่าทีนโยบายการเงินของ BOJ เช่นนี้ กำลังสะท้อนนัยอะไร?
1.BOJ ส่งสัญญาณปรับแนวนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อตลาดการเงินโลกมาก แนวทางเช่นนี้ช่วยลดการคาดการณ์ของตลาดว่า BOJ จะประกาศยกเลิก YCC หรือจะปรับเพิ่ม reference rate ชัดเจนแบบที่จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกตกใจ ทั้งนี้เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทในตลาดการเงินโลกสูงมาก โดยเฉพาะบทบาทของกองทุนบำนาญและกองทุนบริษัทประกันต่างๆ มูลค่าการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นในตลาดการเงินต่างประเทศของนักลงทุนญี่ปุ่นรวมกันเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
2.BOJ เริ่มเห็นความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเร็ว แต่อยากมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดยาวนาน เงินเฟ้อมาอยู่ที่ระดับยั่งยืนตามเป้า 2% ได้จริง ก่อนจะประกาศลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Policy normalization) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องดูพฤติกรรมการกำหนดขึ้นค่าจ้างของธุรกิจด้วย เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้รายได้แรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อให้มาอยู่ที่ระดับยั่งยืนได้
3.บทบาทนโยบายการคลังญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าสามารถช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อให้อยู่ที่เป้าหมาย 2% ได้ในระยะยาว ด้วยการออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจและมาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้กลไกการกำหนดค่าจ้างและเงินเฟ้อ (Wage-price setting) ทำงานได้อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
การออกแบบนโยบายการเงินของ BOJ ให้มาตรการ YCC ยืดหยุ่นมากขึ้นในสถานการณ์ดอกเบี้ยโลกขาขึ้นยังไม่จบง่ายๆ เช่นนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นไต่ขึ้นไปใกล้ 1% ได้โดย BOJ ไม่ได้ประกาศยกเลิก YCC หรือสื่อสารชัดว่าจะเริ่ม policy normalization นับเป็นการเดินเกมของผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ที่ชาญฉลาดและชวนติดตามค่ะ.