ผงะ!เหล็กจีนเลี่ยงเอดีกินส่วนแบ่งตลาดเหล็กไทย สถาบันเหล็กฯหนุนมาตรการ ตอบโต้-ใช้กำลังผลิตในประเทศ ด้าน สนค. เผยราคาวัสดุก่อสร้างไทยครึ่งแรกปี 66 ลดฮวบ หลังราคาพลังงาน วัตถุดิบโลก และความต้องการก่อสร้างลดลง
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ประเทศไทยมีความต้องการบริโภคเหล็กทุกชนิดรวม 7.17 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อนที่มี 7.03 ล้านตัน ขณะที่ในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้ โรงงานผลิตเหล็กในประเทศ สามารถผลิตเหล็กได้จำนวน 2.81 ล้านตัน ลดลงถึง 14.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่เมื่อเทียบกับการนำเข้าปรากฏว่าประเทศไทย มีการนำเข้า 4.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสินค้าในประเทศถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า โดยประเทศไทยมีการส่งออกอยู่ที่ 0.63 ล้านตัน ขยายตัว 9.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของผู้ผลิตในประเทศไทย 5 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยที่ 29% ลดลงจาก 33% จากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
“ตัวเลขดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับ 52.3%”
ทั้งนี้ ปัญหาหลักๆเกิดจากการที่ประเทศไทยยังมีการนำเข้าเหล็กในสัดส่วนที่สูงมากในอัตรา 70% ของการบริโภค และพบว่าการนำเข้ามีมูลค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการนำเข้าของประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับเพียง 22% เท่านั้น
ล่าสุด แนวโน้มราคาของสินค้าเหล็กทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มอาเซียน ยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ประเทศจีนมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากในครึ่งแรกของปีนี้ โดยมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 41.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และตลาดการส่งออกหลักของจีนอยู่ที่อาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอัตราการนำเข้าจากจีนสูงขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการที่จีนมีปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้นเป็น 445 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี ที่ผ่านมา
“สินค้าเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) เช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน หรือสินค้าเหล็กลวดที่มีการเจืออัลลอย เพื่อหลบเลี่ยงพิกัดศุลกากรที่มีปริมาณนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 286% และ 23.7% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเหล็กเคลือบประเภทต่างๆมาใช้แทนเหล็กเคลือบที่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ส่งผลให้เกิดการบั่นทอน ประสิทธิภาพ การบังคับใช้มาตรการ AD ในปัจจุบัน ดังนั้น สถาบันเหล็กฯ จึงเห็นว่าการใช้ตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circum vention : AC) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับ ที่ประเทศต่างๆ มีการบังคับใช้ เช่น กรณีสหภาพยุโรปมีการใช้มาตรการ AC กับสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีของจีน หรือกรณีที่สหรัฐฯใช้มาตรการ AC กับสินค้าเคลือบสังกะสีจากเวียดนาม หรือกรณีที่บราซิลใช้มาตรการ AC สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากประเทศจีน เป็นต้น
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างช่วงครึ่งแรกของปี 66 ว่า ราคาชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ ตามราคาพลังงานและวัตถุดิบโลกที่ลดลง เช่น น้ำมันดิบ ยางมะตอย และแร่เหล็ก ประกอบกับความต้องการก่อสร้างในประเทศต่างๆชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าปี 65 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ นอกจากนี้ สินค้าในหมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตในเดือน มิ.ย.66 ยังชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของไทยครึ่งแรกปี 66 ชะลอตัวมาก โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 65 จากช่วงครึ่งหลังปี 65 ที่สูงขึ้นถึง 4.5%.