กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยวานนี้ (13 ก.ค) ระบุว่า เศรษฐกิจทั่วโลกในไตรมาสแรกเติบโตเกินคาด เมื่อเทียบกับตัวเลขการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน โดยมีตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแบบผสมผสาน พร้อมกับอุปสงค์ภาคบริการทั่วโลกยังแข็งแกร่ง ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง
“ภาคการผลิตในกลุ่มประเทศ G20 กำลังส่งสัญญาณอ่อนแอ เช่นเดียวสถานการณ์การค้าโลก แต่ในขณะเดียวกันความต้องการในภาคบริการยังแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั่วโลก” IMF ระบุในบันทึกย่อการประชุม ซึ่งจะเผยแพร่ในการประชุมกลุ่มสุดยอดผู้นำทางการเงิน G20 ที่จะเกิดขึ้นในอินเดียสัปดาห์หน้า
โดยการเติบโตของอุปสงค์ในภาคบริการ ได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า เป็นการใช้จ่ายเพื่อบริการมากขึ้น และมีแนวโน้มที่แรงกดดันด้านราคาจะยังดำเนินต่อไป
ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อ IMF ให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2565 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มผ่อนคลายลง แต่ยังอยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในกลุ่มประเทศ G20
อย่างไรก็ตาม IMF ไม่ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกเพิ่มเติมและยังคงประมาณการไว้ที่ 2.8% ซึ่งลดลงจาก 3.4% ในปีก่อนหน้า แต่กล่าวว่าความเสี่ยง "ส่วนใหญ่" มีแนวโน้มไปในทางลบมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากวิกฤติสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ที่จะทวีความรุนแรงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งแรงกดดันในภาคการเงินที่จะส่งผลกระทบต่อตลาด
อ้างอิง