นครหนานจิง เติบใหญ่ มั่นคง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

นครหนานจิง เติบใหญ่ มั่นคง

Date Time: 11 ก.ค. 2566 05:22 น.

Summary

  • เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยไปเยือนนครหนานจิง หรือ “นานกิง” ที่คนไทยคุ้นเคย ในมณฑลเจียงซู เพื่อไปเบิ่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีน

Latest

ส่องแนวคิด CEO ระดับโลก เอาตัวรอดอย่างไร ยุคสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบในเกมสั้น จีนชนะเกมยาว

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยไปเยือนนครหนานจิง หรือ “นานกิง” ที่คนไทยคุ้นเคย ในมณฑลเจียงซู เพื่อไปเบิ่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีน

สำหรับ นครหนานจิง เป็นเมืองเอกของมณฑลเจียงซู (และยังเป็นนครใหญ่อันดับสองในภาคตะวันออกของประเทศจีน รองจากมหานครเซี่ยงไฮ้) ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของจีน โดยมณฑลนี้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งข้าวและปลา หมายถึงเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่แหล่งน้ำจืดมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน มีแม่น้ำสายเล็กใหญ่รวมทั้งสิ้น 2,900 กว่าสาย ทั้งยังมีทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ติด 5 อันดับแรกของจีนอยู่ถึง 2 แห่ง

เป็นหนึ่งในนครที่สำคัญที่สุดของจีนมานานกว่าพันปี จัดเป็นหนึ่งในสี่เมืองหลวงโบราณที่ยิ่งใหญ่ของจีน โดยเคยเป็นเมืองหลวงของหลายราชวงศ์ จนได้รับสมญานามว่า “เมืองหลวงสิบแผ่นดิน” รวมทั้งยังเคยเป็นทำเนียบรัฐบาลของ “ซุนยัดเซ็น” และ “เจียงไคเช็ค” ในยุคปฏิวัติจีนอีกด้วย

ที่นครแห่งนี้จึงเป็นศูนย์การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในระยะยาวภาคใต้ของประเทศจีน

หนึ่งในสัญลักษณ์ประจำนครหนานจิง ได้แก่ “ปี่เซียะ” สัตว์ในตำนานความเชื่อของชาวจีน ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองที่แข็งแกร่ง มีพัฒนาการที่มั่นคงยืนยาว รวมถึงความเพิ่มพูนด้านทรัพย์สินเงินทอง และป้องกันคุ้มภัยจากสิ่งชั่วร้าย

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี จึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสี่เขตเศรษฐกิจระดับชาติ นั่นคือ เขตเศรษฐกิจปากน้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta Economic Integration-YRD) ประกอบด้วย นครเซี่ยงไฮ้ เมือง 9 แห่งในมณฑลเจียงซู (หนึ่งในนั้น คือ นครหนานจิง) เมือง 9 แห่งในมณฑลเจ้อเจียง และเมืองอีก 9 แห่งในมณฑลอานฮุย

สำหรับเขตเศรษฐกิจปากน้ำแยงซี นับเป็นเขตที่มีความเจริญเติบโตมากที่สุดของจีน และเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และอุตสาหกรรมของจีนตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1930 ปัจจุบันมีปริมาณจีดีพีประมาณร้อยละ 25 ของจีน

เมื่อปี 2561 จีนได้กำหนดการพัฒนาไปด้วยกันของเขตเศรษฐกิจปากน้ำแยงซีเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ
โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เป็นเขตสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน 2. เป็นเขตสาธิตของการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของจีน 3.เป็นเขตนำร่องการพัฒนาแบบมีความทันสมัยในขั้นพื้นฐาน 4.เป็นเขตสาธิตการพัฒนาไปด้วยกันในระดับภูมิภาค และ 5.เป็นเขตสำคัญนำร่องการปฏิรูปและเปิดประเทศในยุคสมัยใหม่

ปัจจุบันนครหนานจิง เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายอย่าง รวมทั้งปิโตรเคมี การผลิตรถยนต์และเหล็กกล้า ทั้งยังได้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ซอฟต์แวร์และบริการเอาต์ซอร์ส สมาร์ตกริด (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) และการขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น

ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญทางการเกษตรและธัญพืชของจีน โดยมีพืชหลักทางเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ เรปซีด (Rapeseed) ใช้ทำน้ำมัน ฝ้าย รังไหม กัญชา ชา ไม้ไผ่ ผลไม้ และยาสมุนไพร

เนื่องจากหนานจิงอยู่สองด้านของแม่น้ำแยงซี คุณภาพน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นหนึ่งในแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญของประเทศจีน

ปัจจุบันนครหนานจิง เป็น 1 ใน 26 เมืองรองที่จีนให้ความสำคัญในการยกระดับการพัฒนาให้รุดหน้า นอกเหนือจากการพัฒนา 4 เมืองหลักที่รุดหน้าไปไกลแล้วคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น

ด้วยการที่นครหนานจิงมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านวัตถุดิบ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ เพราะที่นครหนานจิงยังได้ชื่อว่ามีสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศอยู่หลายแห่ง ทำให้นครหนานจิงยังมีโอกาสก้าวทะยานไปได้อีกไกล

ล่าสุดทางการจีนก็ได้มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อชูบทบาทความสำคัญของนครหนานจิงให้เป็นหนึ่งในแกนหลักของเขตเศรษฐกิจปากน้ำแยงซี จึงได้มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

อย่างเช่น ได้มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่มอีกเส้นทาง มีกำหนดเปิดในเดือน ก.ย.นี้ โดยเป็นรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ วิ่งได้เร็วถึง 385 กม./ชม. เลียบแม่น้ำแยงซี เชื่อมมหานครเซี่ยงไฮ้ และนครหนานจิง โดยจะผ่านเขตเศรษฐกิจปากน้ำแยงซีเกียง ประกอบด้วย 1 เมือง 3 มณฑล ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คลัสเตอร์เมืองขนาดใหญ่ของจีน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสูงที่สุดในจีน

จึงอย่าแปลกใจที่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน. สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ใช้เวลาหลายวันอยู่ที่นครหนานจิงเพื่อติดตามความคืบหน้าในการพัฒนานครหนานจิงให้เป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศจีน.

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ