สหรัฐฯ ขยาย “เพดานหนี้” “ข่าวดี” ในท่ามกลาง “ข่าวร้าย”

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สหรัฐฯ ขยาย “เพดานหนี้” “ข่าวดี” ในท่ามกลาง “ข่าวร้าย”

Date Time: 5 มิ.ย. 2566 05:48 น.

Summary

  • ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ช่วงบ่ายๆของวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลาดึกๆของคืนวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน ที่สหรัฐฯ ข่าวเศรษฐกิจของสื่อออนไลน์ระดับโลกยังคงพาดหัวยักษ์ว่าตลาดหุ้นที่นิวยอร์กพุ่งกระฉูด

Latest

ส่องแนวคิด CEO ระดับโลก เอาตัวรอดอย่างไร ยุคสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบในเกมสั้น จีนชนะเกมยาว

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ช่วงบ่ายๆของวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลาดึกๆของคืนวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน ที่สหรัฐฯ ข่าวเศรษฐกิจของสื่อออนไลน์ระดับโลกยังคงพาดหัวยักษ์ว่าตลาดหุ้นที่นิวยอร์กพุ่งกระฉูด หลังวุฒิสภาสหรัฐฯผ่านกฎหมายขยายเพดานหนี้แบบเรียบร้อยโรงเรียนไฮสกูล

ดาวโจนส์ กระโจนพรวดถึง 701 จุด ปิดที่ 33,763 จุด เอสแอนด์พี 500 ก็กระโดด 61 จุด ปิดที่ 4,282 จุด ในขณะที่ แนสแดก ตลาดหุ้นไฮเทคก็บวก 140 จุด ปิดที่ 13,241 จุด

เป็นผลมาจากการคลายวิตกกังวลครั้งใหญ่ที่ทำให้นักลงทุนสหรัฐฯ อึดอัดมาหลายสัปดาห์ เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯกู้เงินเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้แล้ว หากไม่ขยายเพดานเงินกู้ออกไปอีก อาจจะไม่มีเงินชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่ตอนแรกบอกว่าจะมาถึงในวันที่ 1 มิถุนายน

จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องผิดนัดชำระหนี้ อาจถูกลดเครดิตอันจะเป็นผลให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นในการกู้งวดหน้าตามมาด้วยข้อเสียหาย ในทางเศรษฐกิจอีกนานัปการ

รวมทั้งจะไม่มีเงินจ่ายพนักงานของรัฐต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนโครงการโน่นนี่นั่นอีกจำนวนมาก

รัฐบาลจึงเตรียมร่างกฎหมายขอขยายเพดานหนี้ต่อรัฐสภา ซึ่งจะต้องผ่านทั้ง 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ขั้นต้นต้องผ่านด่านหินเพราะเสียงสมาชิกส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายค้าน หรือพรรครีพับลิกันให้ได้ก่อน จึงเริ่มมีการเจรจาระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นระยะๆ

ว่ากันหลายยกตกลงกันไม่ได้เสียที ท่ามกลางความระทึกใจของกองเชียร์ที่เอาใจช่วย ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก เนื่องจากถ้าตกลงกันไม่ได้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ละก็ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะเสียหาย ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล

แม้ต่อมาท่านรัฐมนตรีคลัง เจนเน็ต เยนเลน จะออกมาบอกว่าเส้นตายจากการตรวจสอบ ล่าสุดยังยืดได้อีกหน่อยคือ เป็นวันที่ 5 มิถุนายน แต่ถ้ายังเจรจายืดเยื้อก็อาจไม่ทันกาลเช่นกัน

ในระหว่างเจรจาก็มีทั้งข่าวว่าจะตกลงกันได้แล้ว ไปจนถึงข่าวว่าแม้ตกลงได้แต่อาจโดนสมาชิกสภาสาย “เหยี่ยว” คว่ำกฎหมายกลางสภาสลับกันไปมา ทำให้ตลาดหุ้นตลาดน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา

แต่ในที่สุดก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียง 314 ต่อ 117 และรุ่งขึ้นอีกวันก็มาผ่านวุฒิสภาด้วยเสียง 63-36

มีข้อตกลงที่สำคัญก็คือรัฐบาลสหรัฐฯสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นอีกไปจน ถึงเดือนมกราคม 2568 หรือประมาณอีก 2 ปี จากนี้ไป โดยมีเงื่อนไขรายละเอียดห้อยท้ายเอาไว้หลายข้อเพื่อมิให้รัฐบาลกู้เงินหรือใช้จ่ายเงินโดยอำเภอใจ

ผลที่เกิดขึ้นฉับพลันก็คือสามารถกู้เงินมาชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้และมีเงินจ่ายพนักงานราชการจำนวนหนึ่งได้ต่อไป

ทั่วโลกที่หวาดผวาว่าจะเกิดผลกระทบจากการที่สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ก็เบาใจไปเปลาะหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะพลอยดีขึ้นจนถึงขั้นสบายอกสบายใจได้อย่างเต็มที่นะครับ

เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็ยังมีอีกแยะ เรื่องเงินเฟ้อก็ยังไม่สะเด็ดนํ้า และยังพูดกันอยู่ว่าควรจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อให้อยู่หมัดเสียที?

ปัญหาเรื่องธนาคารล้ม แม้จะเงียบไป แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ายังจะมีปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมโผล่ขึ้นมาอีกหรือไม่

ในขณะที่ปัญหา “สงคราม” รัสเซีย ยูเครนก็ยืดเยื้อต่อไป และยังสู้กันหนักข้อ อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ข่าวดีจากสหรัฐฯ ข่าวนี้จึงไม่การันตีว่าเศรษฐกิจโลกจะพลิกผันไปในทางที่ดีแบบทันตาเห็น โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปซึ่งยังโงศีรษะไม่ขึ้นจาก ผลกระทบโควิด-19 และจากสงครามรัสเซียยูเครนยังน่าห่วงมาก

จึงยังจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในระหว่างประเทศเราจัดตั้งรัฐบาลอยู่นี้...ขอฝากให้ฝ่ายข้าราชการประจำทั้งหมด รวมทั้งแบงก์ชาติซึ่งผมถือว่าเป็น “ภาครัฐ” ด้วย โปรดติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโลก และการเงินโลกอย่าให้คลาดสายตา

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ตกรุ่นอย่างผม ซึ่งห่างไกลทั้งข้อมูล และตำรายุคใหม่ แต่ประสาท “ที่หก” หรือ “ซิกซ์เซ้นส์” ยังดีอยู่...รู้สึกเขม่นตาว่าปัญหาเศรษฐกิจโลก ไม่น่าจะหมดง่ายๆนะโยม!

“ซูม”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ