ครม.ไฟเขียว โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร วงเงินงบประมาณ 5 ปี รวม 2,873 ล้าน ส่งเสริมระบบนาแปลงใหญ่ หนุนชาวนาขายข้าวให้ผู้ประกอบการได้ราคาสูงกว่าตลาด...
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร วงเงินงบประมาณ 5 ปี (61-65) รวมทั้งสิ้น 2,873 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 61 จำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับโครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่) และโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 60 เน้นการส่งเสริมในด้านการผลิต และโครงการที่เสนอในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดระหว่างกลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าว เพื่อให้กลุ่มชาวนาทั้ง 2 ประเภทสามารถขายข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรรวมกลุ่มทำการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานข้าวแบบ GAP ส่วนโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ มีเป้าหมายผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งหมด 3 แสนไร่ในปี 60 แต่ที่ผ่านมาข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP หรือข้าวอินทรีย์ ราคายังไม่ได้เป็นแรงจูงใจเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าว 2 ชนิดนี้ ดังนั้น มาตรการที่เสนอ ครม.เพื่อชี้นำราคาข้าว GAP และข้าวอินทรีย์ โดยที่มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 77 จังหวัด
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ 2 โครงการเพื่อส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และให้ชาวนาสามารถขายข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์ โดยชาวนาขายข้าวเปลือกของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ในราคาที่ดีตามคุณภาพได้ไม่น้อยกว่า 594,000 ตันข้าวเปลือก ตั้งแต่ปีการผลิต 60-64 และชาวนาขายข้าวเปลือกที่ได้รับการรับรอง GAP ได้ไม่น้อยกว่า 10.3 ล้านตันข้าวเปลือกในปี 60-64
ส่วนวิธีการดำเนินการ กระทรวงเกษตรฯ จะจับคู่กลุ่มชาวนากับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีการทำ MOU การซื้อขายข้าวจากโครงการ โดยที่ผู้ประกอบการสามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยที่รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี นอกจากนี้ ธนาคารอาจจะสมทบชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 1 ต่อปี โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวจากชาวนาที่ร่วมในโครงการสูงกว่าราคาตลาด โดยแบ่งเป็นรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 4 ยกเว้นข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานออแกร์นิกไทยแลนด์ จะได้รับการซื้อสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 15
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะจัดสรรโควตาร้อยละ 10 ของโควตาการส่งออกข้าวไปอียู หรือจำนวนปีละ 2 พันตันให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ รวมทั้งสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคข้าวอินทรีย์และข้าว GAP มากขึ้น คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณ 5 ปี รวม 2,873 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย 2,484 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 389 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว.