ทบทวนแผนแม่บททวายใหม่ เมียนมาขอสังคายนาอ้างเหตุเพิ่งปลี่ยนรัฐบาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทบทวนแผนแม่บททวายใหม่ เมียนมาขอสังคายนาอ้างเหตุเพิ่งปลี่ยนรัฐบาล

Date Time: 1 ก.ค. 2560 05:45 น.

Summary

  • ไทย-เมียนมา ประชุมคณะกรรมการร่วมเจซีซีนัดแรกหลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ยันเดินหน้าโครงการทวายต่อ แต่เมียนมาขอเวลาทบทวนแผนแม่บทอีกครั้ง ก่อนเสนอ ครม.และสภาฯ เพื่อกู้เงินจากไทย 4,500 ล้านบาท ภายใน 3 เดือน...

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม

ไทย-เมียนมา ประชุมคณะกรรมการร่วมเจซีซีนัดแรกหลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ยันเดินหน้าโครงการทวายต่อ แต่เมียนมาขอเวลาทบทวนแผนแม่บทอีกครั้ง ก่อนเสนอ ครม.และสภาฯ เพื่อกู้เงินจากไทย 4,500 ล้านบาท ภายใน 3 เดือน เพื่อสร้างถนนเส้นแรกเชื่อมโยงทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา 138 กม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (เจซีซี) ครั้งที่ 8 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกภายหลังมีการเลือกตั้งในเมียนมา โดยมีนายตัน มิ้นท์ รมว.พาณิชย์ของเมียนมาเป็นประธานร่วม พร้อมด้วยนายทุน หน่าย รมช. ไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมา ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเมียนมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยได้ข้อสรุปว่า ไทยกับเมียนมาจะร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่รองรับการลงทุนของภาคเอกชนโดยเร็ว โดยโครงการทวายจะเป็นตัวเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาที่สำคัญและจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทางเมียนมา ประเทศไทยและภูมิภาคโดยรวม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางเมียนมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่จึงขอที่จะไปทบทวนแผนแม่บทที่เคยทำไว้ ซึ่งอาจมีการปรับปรุงบางเรื่อง

ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเร่งพัฒนาถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมาระยะทาง 138 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนเงินก่อสร้างถนน ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยเคยมีมติที่จะให้รัฐบาลเมียนมากู้เงินเพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างวงเงิน 4,500 ล้านบาท โดยล่าสุดทางเมียนมาขอกลับไปพิจารณาก่อนว่าจะกู้เงินจากไทยหรือไม่ รวมทั้งขอไปทบทวน ระยะทางและความลาดชันของถนน โดยล่าสุดการก่อสร้างถนนจะแยกออกมาจากการพัฒนาโครงการทวายระยะแรก ที่บริษัทอิตาเลียนไทยได้สัมปทานไป นอกจากนั้น ได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะพัฒนาโครงการทวายระยะแรกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ระบบโทรคมนาคม โรงไฟฟ้า ท่าเรือขนาดเล็กและอ่างเก็บน้ำ

นายอาคมกล่าวด้วยว่า เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็ว จึงมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด เพื่อหารือในรายละเอียดจัดทำแผนกรอบเวลาและแนวทางดำเนินงานในแต่ละเรื่องเพื่อเสนอเจซีซี ภายใน 3 เดือน ได้แก่ 1. คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายชายแดนไทย- เมียนมา ซึ่งมีผู้แทนของกรมทางหลวงและสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหน่วยงานหลักจากไทยและผู้แทนจากกรมทางหลวงและจากกระทรวงวางแผนและการเงิน เป็นหน่วยงานหลักจากเมียนมา 2.คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาโครงการทวายระยะแรกมีผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นหน่วยงานหลักจากไทยและผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักจากเมียนมา

ทั้งนี้ ภายหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ทางเมียนมาได้ตั้งกลไกเพื่อทำงานร่วมกับฝ่ายไทย ได้แก่ 1.คณะกรรมการร่วมระดับสูง (เจ-เอชซี) ซึ่งฝ่ายไทยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและรองประธา-นาธิบดีเมียนมาเป็นประธานร่วม 2.คณะกรรมการประสานงานร่วม (เจซีซี) 3.คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งนี้เมียนมาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจซีซี ครั้งที่ 9 ช่วงเดือน ต.ค.2560 แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วยไทย เมียนมาและญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะอยู่ในความร่วมมือ 3 ฝ่ายเช่นเดิม

ด้านนายตัน มิ้นท์ รมว.พาณิชย์ เมียนมา กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะเดินหน้าเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายโดยเร็วที่สุด โดยยืนยันว่าเป็นโครงการที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ ซึ่งจากการเดินทางมาประชุมที่ไทยในครั้งนี้ได้ไปเยี่ยมชมอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จึงอยากเห็นการพัฒนาทวายก้าวหน้าขึ้นมา ส่วนการพิจารณากู้เงินจากไทย เพื่อนำไปก่อสร้างถนนนั้น ตามขั้นตอนพิจารณา จะเสนอที่ประชุม ครม.และรัฐสภาของเมียนมาพิจารณาภายใน3 เดือนนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ