นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีแนวคิดจะหารือกับ ธปท. กำหนดให้มีมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า-ออกระยะสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปโดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี เนื่องจากไทยไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอที่จะมีศักยภาพในการดูแลค่าเงิน จึงจำเป็นต้องดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อภาคส่งออก “ผมมองว่าบาทแข็งค่ารวดเร็ว แม้ที่ผ่านมา ธปท.พยายามออกมาตรการดูแล แต่ ธปท.จะต้องมีมาตรการด้านภาษีในการสกัดเงินที่จะเข้าออกระยะสั้น แม้เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยที่จะมีผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและบาทอาจอ่อนค่าลงบ้าง แต่ก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าจะผันผวนไปในทิศทางใด รวมทั้งต้องดูนโยบายผู้นำสหรัฐฯด้วย”
ด้านนายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.เตรียมร่วมมือกับ ธปท.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรายย่อยทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความเสียหายจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากขณะนี้รายย่อยทำประกันความเสี่ยงเพียง 10-20% เท่านั้น กกร.เป็นห่วงว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วจะกระทบความสามารถการแข่งขันด้านส่งออก และ กกร.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบ ประเด็นการเมืองทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรป รวมทั้งการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ที่มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทของไทย
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เกตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ครึ่งหลังปีนี้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นแตะ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันอยู่ที่ 33.95 บาท ซึ่งเป็นไปตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังนักลงทุนผิดหวังนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยและเอเชียมากขึ้น คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 35 บาท ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 61 ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นไปแตะ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ “ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาผู้ส่งออกได้แห่ซื้อประกันปิดความเสี่ยง หลังเงินบาทแข็งค่าทะลุจาก 35 บาท มาที่ 34 บาท แต่ค่าเงินบาทที่ผู้ส่งออกต้องการคือ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และจากแผนผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย ของ ธปท. ซึ่งเดิมคาดว่า ธปท.จะใช้ยาแรงเพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินบาท แต่มาตรการที่ออกมาน่าจะทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ ขณะที่ยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจแข็งแกร่ง คาดว่า ธปท.ต้องมีมาตรการดูแลกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว.