มีการคาดการณ์ “เศรษฐกิจไทย” ปี 2568 จะเติบโตในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เหตุจากพระเอกหลักอย่าง “การส่งออก” จะลดลง จากความเสี่ยงของสงครามการค้าโลก เศรษฐกิจจีนอ่อนแอ และภาคการผลิตไทยที่ยังปรับตัวไม่ทัน
กลายเป็นคำถามว่าปัจจัยเสี่ยงข้างต้นจะกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง? ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้คำนิยามว่า ปี 2568 จะยังเป็นปีที่ปั่นป่วนสำหรับภาคธุรกิจไทย
ซึ่งก็มาจากปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมไทยจะฟื้นตัวต่างกัน โดยรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยคงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป
2. ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่หากขยายวงไปมากกว่าที่กังวล จะกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ราคาสินทรัพย์ต่างๆ (พลังงาน วัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยน) ให้มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น
3. ผลของสงครามการค้ารอบใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยดังได้กล่าวข้างต้น จึงต้องติดตามรายละเอียดเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่
1. มาตรการภาครัฐบางเรื่องอย่างการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 2.9% ทั่วประเทศ จาก 345 บาท/วัน เป็น 355 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 โดยมี 4 จังหวัด (ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) กับ 1 อำเภอ (เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี) ที่แตะ 400 บาท/วัน ซึ่งมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีกไม่ต่ำกว่า 2% (ปัจจัยอื่นคงที่) และอาจกระทบมาร์จิ้นธุรกิจให้ลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูง ได้แก่ เกษตร ก่อสร้าง ที่พักแรมและร้านอาหาร ค้าปลีก รวมถึงการผลิต
2. แผนการปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ OECD Pillar 2 ซึ่งหากบริษัทข้ามชาติใดมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (top-up tax) เพื่อให้ถึง 15% ตั้งแต่ปี 2568 ภายใต้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ 26 ธันวาคม 2567 นั้น คงจะส่งผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติที่เข้าข่าย ทำให้การลงทุนในไทยน่าสนใจน้อยลง
3. ประเด็นเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขัน หนี้ที่สูง การเป็นสังคมสูงวัย ก็ล้วนจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังชี้ว่า แม้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ของภาครัฐจะกระตุ้นบรรยากาศการลงทุน แต่ผลบวกของโครงการต่างๆ เช่น ดิจิทัล พลังงานสะอาด ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (Entertainment Complex) กว่าจะเริ่มต้นลงทุนคงต้องใช้เวลา และอานิสงส์น่าจะตกอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือธุรกิจร่วมทุนกับต่างชาติที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ (เงินทุน เทคโนโลยี แรงงาน) เป็นหลัก
สำหรับปี 2568 อุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นตัวต่างกัน โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
1. กลุ่มที่จะดีขึ้นกว่าปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน อาหารและเครื่องดื่ม) สอดรับไปกับเทรนด์การใส่ใจดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และการเป็นสังคมสูงวัยทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก โดยประเมินว่า รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568 จะขยายตัวที่ 7.0% เร่งขึ้นจากที่เราประเมินไว้ที่ 6.3% ในปี 2567
2. กลุ่มที่ยังขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งและคลังสินค้า เนื่องจากแรงส่งการฟื้นตัวหลังโควิดของการท่องเที่ยวจะเริ่มแผ่วลง ประกอบกับมีความท้าทายจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งในฝั่งผู้ประกอบการก็เผชิญการแข่งขันที่สูงในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพซึ่งอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
โดยคาดว่า รายได้การท่องเที่ยวจากทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเที่ยวในประเทศปี 2568 จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท มูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2568 จะขยายตัว 3.0% ชะลอลงจากปี 2567 ที่เติบโต 4% รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังเผชิญโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2568 จะเติบโต 1.6% ชะลอลงจากปี 2567 ที่ขยายตัวเกือบ 10%
3. กลุ่มที่หดตัวจากปีก่อน ได้แก่ สินค้าคงทนทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จากแรงฉุดกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่หากเทียบกับอุปทานในตลาดที่มีอยู่มาก
โดยประเมินว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปี 2568 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หรืออยู่ที่ราว 336,000 หน่วย เทียบกับ 340,000 หน่วยในปี 2567 และยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หรืออยู่ที่ราว 530,000 คัน เทียบกับราว 570,000 คันในปี 2567
หากพิจารณาในมิติขนาดของธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กลุ่มที่เสี่ยงคือ ธุรกิจขนาดกลางลงล่าง (MSME) ในภาคการผลิต ซึ่งเผชิญปัญหาสะสมจนแข่งขันไม่ได้มากขึ้นๆ ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อาจปรับลดลงอีกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น ส่วนในภาคการค้าและบริการ ได้แก่ ที่พักแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่มขึ้น ตามการหมุนเวียนเข้าออกที่รวดเร็ว แต่การแข่งขันที่สูงขึ้น ท่ามกลางการใช้จ่ายที่ยังระมัดระวังของผู้บริโภค ทำให้การรักษายอดขายเพื่อยืนระยะทางธุรกิจก็คงจะไม่ง่ายเช่นกัน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney