13 ผู้นำกับความท้าทายแห่งปี 2568 เศรษฐกิจโตต่ำ-ภูมิอากาศเปลี่ยนคือปัญหาหลัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

13 ผู้นำกับความท้าทายแห่งปี 2568 เศรษฐกิจโตต่ำ-ภูมิอากาศเปลี่ยนคือปัญหาหลัก

Date Time: 13 ม.ค. 2568 06:30 น.

Summary

  • เศรษฐกิจไทยที่เติบโตในระดับอ่อนแรงติดต่อกันมาหลายปี ประกอบกับความเสี่ยงจากปัจจัยรุมเร้ารอบโลก ส่งผลกระทบต่อปากท้อง ความเป็นอยู่ของคนไทยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

Latest

เปิดแผน “วีริศ” ปรับทัพรถไฟไทย บริหารทรัพย์สิน 2 แสนไร่สร้างรายได้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics (เว็บไซต์สำนักข่าวอมรินทร์ทีวี) เก็บข้อมูลในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีของไทยขยายตัวเฉลี่ย 1.9% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ 6.1%, ฟิลิปปินส์ 5.0%, อินโดนีเซีย 4.3% และมาเลเซียที่ 4.2% ส่วนในปี 2566 ที่ข้อมูลของ ttb ไม่ได้วิเคราะห์รวมไว้ เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 1.9% และปี 2567 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 2.7%

ขณะที่สถานการณ์รอบนอกประเทศ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ สงคราม โรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรง ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม ไฟป่า ประเทศทั่วโลกต้องใช้งบประมาณซ่อมสร้างจำนวนมหาศาล

แม้จะมีโอกาส ปัจจัยบวกแทรกซ้อนเข้ามาประปราย แต่ก็ไม่ง่ายที่จะฉกฉวย โดยเฉพาะกับประเทศที่ขาดทักษะ ไม่มีความพร้อมที่จะโอบรับโอกาสนั้นไว้

ในวาระที่ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ครบรอบ 75 ปี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ผู้นำองค์กรระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มาร่วมแสดงความยินดีมากมาย “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงใช้เป็นโอกาสสอบถามถึงความท้าทายที่พวกเธอและเขา คาดว่าจะต้องเผชิญในปี 2568 ที่แม้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าจะโหดและดุไม่น้อย

นวลพรรณ ล่ำซำ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย

ปี 2568 ยังเป็นปีที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ วงการประกันภัยกำลังเดินเข้าสู่พายุลูกใหญ่ที่ไม่มีแผนที่นำทาง โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างยากจะคาดเดา ตัวอย่างชัดก็เช่น น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือและใต้ในปีที่ผ่านมา ทำให้การประเมินความเสี่ยงซับซ้อนขึ้น รวมถึงการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดโรคระบาดใหม่ๆ และโรคเดิมที่รุนแรงขึ้นโควิด–19 อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลายเป็นสิ่งที่เราต้องรับมือบ่อยขึ้นในอนาคต

อีกหนึ่งความท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามคือ แนวโน้มการเกิดใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราต่ำกว่าการเสียชีวิต ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ทำให้ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เรื่องนี้ไม่เพียงแค่เพิ่มแรงกดดันต่อระบบสุขภาพ แต่ยังทำให้บริษัทประกันต้องคิดใหม่ทำใหม่ด้วย โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้รับประกันภัยในการเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม, มีประสิทธิภาพ, มีความระมัดระวัง และเข้าใจต่อสถานการณ์ความท้าทายเหล่านี้ เราไม่ได้แค่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทั้งธุรกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งในมุมของเมืองไทยประกันภัย ยังตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต เพื่อให้คนไทยยิ้มได้เมื่อภัยมา

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
รมช.คลัง

ความท้าทายในปี 2568 คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องคนไทย หลังบริหารราชการแผ่นดินมา 1 ปี พบว่ามีปัญหาใต้พรมเยอะมาก โดยเฉพาะความเป็นระบบราชการที่ฝังรากลึก เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไข เพื่อให้ง่ายต่อการขับเคลื่อน ขณะที่ตลาดทุนต้องลงรายละเอียด ปีที่ผ่านมาเกิดฝีแตกในหลายกรณี ต้องหามาตรการควบคุมกำกับดูแลใกล้ชิดขึ้น

ขณะเดียวกันยังต้องกระตุ้นการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากกว่า 3% เพราะเศรษฐกิจเติบโตมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐมาก เรื่องนี้ท้าทาย เพราะเป็นการจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการทำข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ซึ่งทำให้การจัดเก็บภาษีศุลกากรลดลง

ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพากร ก็ต้องดำเนินการเพื่อมิให้เป็นภาระผู้ประกอบการและประชาชนเกินไป ตรงนี้ต้องหาจุดสมดุล ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้ว

“การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องหนักมาก ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่การต้องทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยไม่กระทบประชาชน หรือกระทบน้อยที่สุด เป็นเรื่องยากและหนัก โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจเติบโตน้อย รัฐบาลจึงต้องพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้โตมากกว่า 3% ให้ได้ เรื่องนี้ท้าทายมากจริงๆในปีนี้”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับปีนี้ เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลายปีที่ผ่านมา ขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก สูงสุดสำหรับปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3% ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล จริงอยู่แม้ว่าธุรกิจของเอไอเอสกลายเป็นความจำเป็น เป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว เพราะทุกคนต้องใช้มือถือ เราอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก

แต่การให้บริการโครงข่ายมือถือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนด้านการลงทุนค่อนข้างสูงในแต่ละปี เพื่อรักษาคุณภาพเครือข่าย ส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้า การที่เราต้องลงทุนมหาศาลทุกปี ขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ เป็นความยากลำบากและท้าทายสำหรับเราอย่างมาก โดยเฉพาะการทำกำไร

ชาย เอี่ยมศิริ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ความท้าทายที่สายการบินไทย ในฐานะเป็นสายการบินระดับชาติต้องเจอในปีนี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้ คือการปรับตัวของการบินไทยที่ต้องทำต่อ แม้ที่ผ่านมาได้ปรับองค์กรไปมากแล้วก็ตาม หากมองเฉพาะในมิติการท่องเที่ยวและเดินทาง อุตสาหกรรมการบินในปีนี้ ความท้าทายหลักๆน่าจะอยู่ที่

“ความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล USD ขณะเดียวกันการบินไทยก็ต้องบริหารความเสี่ยง และมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ รองรับการแข่งขันของสายการบินทั่วโลก ในแง่ของความต้องการ (Demand) และกำลังผลิต (Supply) ภาพรวมยังคล้ายกับในปี 2567 โดย Demand น่าจะโตต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเครื่องบินและเครื่องยนต์ทำให้ Supply จะยังไม่กลับมาเท่าไหร่

“แต่หากถามว่าปี 2568 การแข่งขันจะดุเดือดไหม มองว่าคงไม่ดุเดือด แต่การบินไทยพร้อมสู้แน่นอน โดยปีนี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมการบินโลกจะทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่ารายได้และกำไรจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโควิดในปี 2562 การบินไทยเองก็คาดเช่นนั้น”

กรณ์ ณรงค์เดช
ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน)

มองว่าความท้าทายหลักของผมในฐานะนักธุรกิจคือการสร้างสมดุลระหว่างความเติบโตขององค์กรกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ตอบโจทย์ตลาดอสังหาริมทรัพย์และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปี 2568 นับเป็นปีที่สำคัญ เพราะเรามีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอัลตร้าลักชัวรี ซึ่งกำลังมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่เราต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้โดดเด่นและแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก การควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้น

ด้านการทำงาน ผมมองว่าการเติบโตของบริษัท ต้องมาพร้อมกับการเติบโตของพนักงาน ดังนั้น การพัฒนาและ Reskill ทีมงานเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เราต้องเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเทคโนโลยี การตลาดดิจิทัล และความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ เพื่อให้ทุกคนสามารถสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้อย่างเต็มที่ ท้ายที่สุด ผมมองว่าความท้าทายเหล่านี้ คือโอกาสที่ดีในการผลักดันทั้งตัวเองและองค์กรให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น

จิราพร สินธุไพร
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่องท้าทายในปี 2568 มีหลายเรื่อง ถ้าเกี่ยวกับหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ การหลอกลวงประชาชน การขายตรงแบบที่มีการหลบๆซ่อนๆแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งไม่เคยลดลงเลย แต่ละปีเกิดขึ้นแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน อีกประเด็นที่ท้าทายมากคือเรื่องคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงทรัพย์สินของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายน่าจะสูสีกับเรื่องของยาเสพติด ที่กระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม และที่ยิ่งท้าทายเพราะไม่ได้อยู่แค่ในประเทศ แต่เกี่ยวพันกับต่างประเทศด้วย จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปราม จึงเป็นเรื่องท้าทายอันดับต้นๆ

มนัสส์ มานะวุฒิเวช
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปีนี้ที่ท้าทายที่สุดเป็นเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเกินไป นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) ที่ยากต่อการคาดเดา ขณะที่การทำธุรกิจในยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ความท้าทายอีกประการคือพายุของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลกับวิถีชีวิตคนทั่วโลก ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีของคนไทย ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของทรูในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไร้สายและอื่นๆอย่างเต็มกำลังเพื่อทำให้ประเทศไทยและคนไทยได้รับประโยชน์จากยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้

สรวงศ์ เทียนทอง
รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

ปี 2568 อยากได้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทะลุ 40ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อรวมกับคนไทยเที่ยวในประเทศ ขอคงเป้าหมาย 3–3.5 ล้านล้านบาทไว้ก่อน โดยจะพยายามให้ได้3.5 ล้านล้านบาท ในระหว่างทางจะออกกฎหมายลูกหรือกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พักและโรงแรมที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ทำให้ตัวเลขรายได้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

ส่วนเรื่องกีฬากำลังพยายามให้การทำงานของฝ่ายบริหาร สมาคมและตัวนักกีฬาไปในทางเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่โครงสร้าง การเบิกจ่ายที่มีปัญหา ต้องคลี่คลายตรงนี้ให้ได้ นักกีฬาที่ไปลงแข่งจะได้ไม่ต้องกังวลว่าลงแข่งแล้วจะได้เบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนอย่างไร ส่วนสวัสดิการนักกีฬากำลังดู พ.ร.บ.กีฬา ว่าจะสามารถเสริมอะไรให้ได้ อยากให้ความสำคัญกับตัวนักกีฬาให้มากขึ้น รวมอดีตนักกีฬา และการส่งเสริมนักกีฬาในอนาคตด้วย รวมทั้งต้องวางรากฐานเอาท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ปี 2568 ยังเป็นปีที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างๆทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการที่เราจะเห็นจีดีพีของประเทศไทยกลับมาขยายตัวตามกรอบเป้าหมายที่ 5% เป็นเรื่องยากมาก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังต้องเผชิญความท้าทายมากมาย ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Technology disruption) ผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สงครามการค้าที่คาดว่าจะกลับมาปะทุอีกครั้ง ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดเดาได้

“ประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถหาเครื่องยนต์ใหม่ๆเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้ การขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้มีข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รายได้ภาครัฐที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีงบลงทุนพัฒนาประเทศที่จำกัด ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่ยังคงกดดันกำลังซื้อและเศรษฐกิจไทย ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”

การกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่ต้องจับตามองและติดตามนโยบาย Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า 10–20% และจากจีน 60–100% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย มีมูลค่าการค้า ม.ค.–พ.ย.2567 อยู่ที่ 68,308.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกเกินดุลการค้าสหรัฐฯอยู่ที่ 32,287.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไทยขยับมาเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับ 9 มีความเสี่ยงสูงที่ทรัมป์จะอาศัยเรื่องนี้ ออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าไทย หรือไทยอาจถูกจับตาเรื่องการบิดเบือนค่าเงิน เหมือนในสมัยทรัมป์1.0

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
รมว.เกษตรและสหกรณ์

เรื่องท้าทายการทำงานในปี 2568 ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหลักๆเพื่อลดความยากจนและการขาดที่ดินทำกินของเกษตรกรให้ได้ ยังทำต่อเนื่องเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรที่ควรได้สิทธิ ได้ครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก.

ขณะเดียวกัน จะผลักดันโครงการการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้ได้บรรจุแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ไว้ในแผนของกรมชลประทานแล้ว โดยแผนระยะยาวจะเริ่มในปี 2570-2580 ส่วนแผนระยะสั้นจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 ซึ่งจะมีทั้งหมด 300 กว่าโครงการทั่วประเทศ

อีกเรื่องที่ท้าทายมากคือการแก้ปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ 2.5 ต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ให้เกษตรกรลดและยกเลิกเผา และให้กรมส่งเสริมการเกษตรหาทางออกให้ด้วย เพราะหากไม่ใช้การเผา ต้นทุนดำเนินการทางการเกษตรจะสูงขึ้น อีกแนวทางหนึ่งที่ได้ดำเนินการควบคู่กันไปก็คือปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีการนำตัวฝนหลวงไปเจาะชั้นบรรยากาศ โดยจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ก่อนลงมือทำ จากประสบการณ์ที่ได้ทำมาในหลายพื้นที่ ถือว่าประสบความสำเร็จและสามารถลดค่าฝุ่นละออง 2.5 ในพื้นที่เหล่านั้นได้ 50% ก็จะดำเนินการต่อเนื่อง

กีรติ กิจมานะวัฒน์
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

สิ่งท้าทายที่ ทอท.จะต้องเตรียมรับให้ได้คือการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางมาใช้บริการสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทอท.ทั้ง 6 แห่งที่จะเพิ่มขึ้นให้ได้ บนเงื่อนไขที่สนามบินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังคงมีอยู่เท่าเดิม แต่ ทอท.ไม่สามารถขยายขีดความสามารถสนามบินได้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี ดังนั้น ทอท.จะต้องบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้ได้ ทำให้ไม่เกิดความแออัด เพราะเป้าประสงค์ของ ทอท.คือ ต้องทำให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีและประทับใจ

สิทธิกร ดิเรกสุนทร
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ความท้าทายการทำงานในปีนี้คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอีและบุคคลธรรมดา รวมถึงปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ต้องลดลงตามไปด้วย

“การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องยากมาก เพราะลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการต่างกัน ขณะที่ บสย.ต้องช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ทุกราย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เฉพาะรายก็ทำไม่ได้ เพราะอาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะ จึงต้องคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากๆ”

ในปี 2568 บสย.จะใช้เงินทุนของ บสย.ที่มีอยู่ นำร่องค้ำประกันสินเชื่อไปพลางก่อน แต่หากมีลูกค้ามากขึ้นอาจต้องของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme : PGS11 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 55,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท สร้างงานมากกว่า 100,000 คน

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้งบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

ปี 2568 ขยับเข้ามา ทำให้เรามีเวลาน้อยลงอีกปีในการปรับตัวเข้าสู่มาตรการ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism โดยจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ที่จะเริ่มบังคับใช้ภายในปี 2573 ภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการเปลี่ยนกฎการทำธุรกิจทั้งหมด ธุรกิจต้องปรับตัว ทำให้ห่วงโซ่การผลิต (supply chain) เป็นสีเขียวให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำธุรกิจได้ในอนาคต กู้แบงก์ก็ไม่ได้ ระดมทุนเข้าตลาดหุ้นไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ บริษัทมหาชนทำการค้าด้วยไม่ได้ นั่นคือความท้าทายแรก

ความท้าทายต่อมาคือการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างจริงจัง และทุกคนเข้าถึงได้ บริษัทไหนไม่มี AI เทรนนิ่งจะตกขบวน สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ลงทุนพัฒนาคน

ความท้าทายที่ 3 คือ supply chain ที่เปลี่ยนไป โดยจะไม่ได้มีศูนย์กลางที่จีนแล้ว โดยการไหลของเงินจะเปลี่ยนเป็นไหลเข้ามาในอาเซียน ที่มีเขตการค้าเสรีอาฟต้ารวมตัวกัน 10 ประเทศอาเซียน ที่จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง อาจมีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตมาไทยมากขึ้นหรือน้อยลงในบางอุตสาหกรรม อยู่ที่ความสามารถในการพัฒนาคนที่เป็นทุน และการออกนโยบายของรัฐบาล ในการดึงคนเก่งและเม็ดลงทุนเข้ามา

“ขณะที่ความท้าทายระดับประเทศคือความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90% ของจีดีพี ที่ต้องลดให้เร็วที่สุด ความเสี่ยงที่ใหญ่มากคือการไม่เอาบิทคอยน์มาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เราต้องเริ่มเรื่องนี้และมี national bitcoin strategic reserve ได้แล้วในปี 2568 ตอนนี้หลายประเทศกำลังถือครองบิทคอยน์ หากช้าต้นทุนจะยิ่งสูงขึ้นตามราคาที่เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความเสี่ยงของประเทศไทยในระดับมหภาค สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไป แนะนำลดการสร้างหนี้ อย่ากู้ยืม เก็บเงินสดให้เยอะที่สุด”.


ทีมเศรษฐกิจ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ