“วีริศ” เปิดวิสัยทัศน์ปั้นฝันพา “รถไฟไทย” สร้างรายได้โตอย่างยั่งยืน จับมือ SRTA บริหารที่ดินเจ้าคุณปู่ 2 แสนไร่ เปิดนำร่องพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ดินทำเลทอง 35 แปลงทั่วไทย ปลุก “รถไฟท่องเที่ยว” สร้างรายได้ มั่นใจโกยรายได้ลดขาดทุนแสนล้าน เดินหน้าลุยสร้างรถไฟไฮสปีด “ไทย จีน–เชื่อมสามสนามบิน”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตนมีโอกาสได้ลงพื้นที่ดูงานในเส้นทางรถไฟต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงโครงการก่อสร้างสำคัญๆของรถไฟ ทั้งโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่, โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, รวมถึงการดำเนินการในการขนส่งสินค้าในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ การเดินขบวนรถโดยสารและขบวนรถสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละส่วนงานล้วนแต่สร้างประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟทั้งสิ้น
ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมานั้น ทำให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสที่จะทำให้รถไฟสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ลดขาดทุนกว่าแสนล้านบาทได้ ในการดำเนินการ 6 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ดำเนินกิจการเพิ่มรายได้ 2.พัฒนาการให้บริการของ รฟท. 3.ลดค่าใช้จ่าย 4.พัฒนาบุคลากร 5.เร่งรัดโครงการ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล 6.ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
นายวีริศกล่าวย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับรถไฟนอกจากการเดินรถแล้วนั้น รฟท.จะต้องเข้าบริหารสินทรัพย์ร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท. ผลักดันให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง (TOD) กับการเดินรถรูปแบบ Open Acces ภายใต้โครงการเดียวกัน เพื่อลดภาระการเดินรถในสายทางที่ไม่มีกำไร สนับสนุนให้เกิดการเพิ่ม FAR (Floor Area Ratio) เพื่อให้ รฟท.ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการพัฒนาที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเร่งรัดจัดการสัญญาสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น ที่ดินแปลงใหญ่ที่เคยดำเนินการผ่าน PPP
โดยการรถไฟฯมีที่ดินทั้งสิ้น 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวน 33,761 ไร่
นอกจากนี้ ในปัจจุบันการรถไฟฯได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ SRTA อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่ เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟฯ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
นายวีริศกล่าวต่อว่า การรถไฟมีแผนที่จะนำที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์อีก 35 แปลง มาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ เบื้องต้นทางบริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนเร่งด่วน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 จำนวน 8 แปลง ประกอบด้วย 1.โครงการบางซื่อ-คลองตัน (RCA) 2.โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย และ 3.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง 4.โครงการสถานีราชปรารภ (แปลง OA) 5.โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.) 6.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5) 7.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 7) 8.โครงการตลาดคลองสาน
ส่วนแผนระยะกลาง ปี 2569-2572 จะนำที่ดิน 18 แปลงมาดำเนินการ ประกอบด้วย 1.โครงการย่านสถานีแม่น้ำ 2.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง D) 3.โครงการย่านบางซื่อ กม.11 (แปลง G2-G8) 4.โครงการบริเวณท่านุ่น 5.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง E1) 6.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง
7.โครงการย่านสถานีมักกะสัน (แปลง B CE) 8.โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง D) 9.โครงการตลาดศาลาน้ำร้อน (สถานีธนบุรี) 10.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง C) 11.โครงการบางซื่อ (แปลง A1) สนง.ใหญ่ รฟท. 12.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A3-5) 13.โครงการพัฒนาพื้นที่ขอนแก่น (แปลง BC D) 14.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง E2) 15.โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง E) 16.โครงการย่านสถานีอุบลราชธานี 17.โครงการพัฒนาพื้นที่ศิลาอาสน์ (124 ไร่) 18.โครงการย่านสถานีนครราชสีมา (แปลง E)
ส่วนแผนระยะยาว ปี 2573-2577 จะมีการนำที่ดินมาพัฒนา 9 แปลง ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาพื้นที่ธนบุรี 21 ไร่ 2.โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง AF G) 3.โครงการย่านสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) 4.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง F) 5.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง B) 6.โครงการพื้นที่ที่หยุดรถตลาดหนองคาย 7.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง H) 8.โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง I) 9.โครงการย่านสถานีนครราชสีมา (แปลง F)
นายวีริศกล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ยืนยันว่า การรถไฟจะยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยให้มีการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุน เพื่อผลักดันให้โครงการ เดินหน้าพัฒนาต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนต้องไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร ขณะนี้เตรียมเสนอหลักการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกรอบการดำเนินงานเดิม ซึ่งคาดว่าจะนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาในหลักการประมาณเดือนมกราคม 2568
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร งบประมาณลงทุนจำนวน 341,351 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการ คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568
นายวีริศกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้เปิดให้บริการขบวนรถพิเศษนำเที่ยวในช่วงวันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ที่หลากหลายรูปแบบ ทั้ง ขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ขบวนรถนำเที่ยวน้ำตก สวนสนประดิพัทธ์ และการให้บริการท่องเที่ยวด้วย ขบวนรถ KIHA 183 ขบวนรถนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และขบวนรถ Royal Blossom ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ขณะเดียวกันการรถไฟยังได้จัดโปรแกรมขบวนรถพิเศษนำเที่ยวใหม่ๆในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ในทุกเทศกาล ทั้งในพื้นที่เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเที่ยวกว่า 100,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากกว่า 150,000 คน
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานรถไฟนำเที่ยว ประจำปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566-กันยายน 2567) มีนักท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 178,116 คน มีรายได้กว่า 51.55 ล้านบาท ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2568 การรถไฟฯ จึงได้เร่งทำแผนงานที่จะเพิ่มบริการรถนำเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ให้รถไฟกว่า 82 ล้านบาท
และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง การรถไฟฯยังได้เตรียมแผนขยายฐานการตลาด โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่สนใจเช่ารถเหมาขบวนท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือค้างคืน โดยนักท่องเที่ยวสามารถดีไซน์รูปแบบการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ซึ่งในส่วนนี้มั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มุ่งสู่เป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่