ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข้อมูลรายงาน "Future of Jobs 2025" โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยร่วมกับ World Economic Forum เพื่อเสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี 2568–2573
รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจ 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ทั้งนี้งานที่ถูกดิสรัปไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง แต่ลักษณะงานจะถูกเปลี่ยนผ่านไปเป็นดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานเดิม ชื่อตำแหน่งเปลี่ยนไป ต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านมากขึ้น คนจะต้องใช้ AI ในการทำงานจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
โดยเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ
2. การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
3. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
5. การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
ภายในปี พ.ศ. 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง โดยทักษะที่สำคัญที่องค์กรในไทยต้องการ 5 อันดับแรก คือ
1. ทักษะด้าน AI และ Big Data
2. ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
3. ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
4. ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
5. ทักษะความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคม
ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
นับตั้งแต่ปีนี้ โลกจะต้องการแรงงานที่มีทักษะด้าน AI และ Big Data แต่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงทำความเข้าใจ ตระหนักรู้ความสำคัญของ AI เพื่อเอาไปใช้งาน เป็นผู้ใช้งานมากกว่าเป็นผู้สร้างนวัตกรรม แต่ในระดับโลกเลยช่วงการตระหนักรู้ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการป้องกันความเสี่ยงของข้อมูล และพัฒนาต่อยอด AI ดังนั้นประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill แรงงาน
วันนี้ประเทศไทยจึงต้องการแรงงานที่มีทักษะสำหรับงานยุคใหม่ โดยต้องมีทักษะคิดวิเคราะห์ สามารถบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน มากกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง และสามารถนำทักษะมาใช้ได้อย่างลงตัว
“สิ่งที่จะชนะปัญญาประดิษฐ์ได้ คือปัญญาที่ไม่ประดิษฐ์ หรือปัญญาสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจโลก สัญชาตญาณ ทักษะที่ทำเป็นประจำจนชำนาญ”
ด้านองค์กรต่างๆ ก็ต้องมีความพร้อมในการพัฒนาระบบงานที่รองรับแรงงานยุคใหม่ ต้องสร้าง AI เป็นของตัวเอง เป็นผู้สร้างนวัตกรรมดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาใช้งาน
ดร.วิเลิศ กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับปริญญา โดยใช้เวลา 2-4 ปี กว่าจะสำเร็จการศึกษานั้น ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกต่อไป นับแต่นี้มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีหลักสูตร Non-degree เน้นการศึกษาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อให้เท่าทันความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องถ่ายทอดความรู้ผ่านเทคโนโลยี AI เข้าใจศักยภาพของผู้เรียน การเปลี่ยนสถาบันให้เป็น skill incubator คือหัวใจสำคัญ โดยต้องมุ่งบ่มเพาะพรสวรรค์ พัฒนาให้บุคลากรมีทักษะแห่งอนาคต เข้าใจศักยภาพของตัวเองมากที่สุด มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ไม่ใช่แค่สอนให้บุคลากรมีความรู้ แต่ต้องมีความฉลาด ความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดนั้นไม่ล้าสมัย เน้นพัฒนาทักษะให้ผู้เรียนสามารถคิดอย่างมีชั้นเชิง
“วันนี้ถ้าประเทศไทยอยากได้คนที่มีทักษะใหม่ๆ ไม่จำเป็นเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ปริญญาตรี แต่เอาคนที่จบปริญญาตรีแล้ว มาเรียนเพิ่มทักษะ 6 เดือนจบ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ให้การศึกษา แต่ต้องนำความรู้ไปสู่สังคม ทั้งหลักสูตร Degree และ Non-degree”
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney