แบงก์ชาติเผย 4 ผลกระทบทรัมป์ 2.0 ไทยจ่อรับแรงกระแทก กำลังซื้อหด ภาคส่งออก-ท่องเที่ยวเลย์ออฟคนเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติเผย 4 ผลกระทบทรัมป์ 2.0 ไทยจ่อรับแรงกระแทก กำลังซื้อหด ภาคส่งออก-ท่องเที่ยวเลย์ออฟคนเพิ่ม

Date Time: 3 ม.ค. 2568 17:23 น.

Video

“Bulgari” ไทยโอกาสใหม่ Luxury | Brand Story Exclusive EP.5

Summary

  • แบงก์ชาติเผย 4 ผลกระทบทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยจ่อรับศึกหนัก หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีจีนในอัตราสูง สินค้าจีนทะลัก แย่งตลาดไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักท่องเที่ยวรัดเข็มขัด กระทบจ้างงานส่งออก-ท่องเที่ยว

Latest


เริ่มต้นปีใหม่ 2568 ด้วยความฝันและความหวัง แต่ทุกโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่นั้น มาพร้อมกับความท้าทายเสมอ โดยเฉพาะการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้

หลังจากพิธีสาบานตน ทั่วโลกให้การจับตามองว่า รัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์จะเร่งดำเนินนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยเลยหรือไม่ โดยเฉพาะจีน แล้วจะขึ้นจริงในอัตราสูงแค่ไหน หรือแค่ขู่ดึงเกมเปิดโต๊ะเจรจาผลประโยชน์รอบใหม่

ที่น่ากังวลก็คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์อาจทำให้การค้าและการลงทุนโลกหยุดชะงักหรือชะลอตัวลง ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่ตอนนี้ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ไทยซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนสูงก็เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน คำถามคือ ไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องไหนบ้าง เพื่อเตรียมรับมือให้ตรงจุด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานนโยบายการเงินไตรมาสที่ 4 ปี 2567 วิเคราะห์ผลกระทบความขัดแย้งทางการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้

1. การลงทุนจะได้รับผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทย

แต่มีความเสี่ยงที่การลงทุนอาจชะลอลงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่สงครามการค้าเริ่มขึ้นในช่วงประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรก บริษัทจีนได้เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ 3 เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ไทยได้รับผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยตั้งแต่ปี 2561 เม็ดเงินลงทุนจากบริษัทสัญชาติจีนเข้ามาไทยรวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (compound average growth) ที่ 20.1% อีกทั้งใน 9 เดือนแรกของปี 2567 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัทสัญชาติจีนมากถึง 1.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 8.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 74.5%

โดยเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโลหะและวัสดุซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนของไทยมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติ จึงอาจชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินความชัดเจนของนโยบายและทิศทางของเศรษฐกิจโลก

2. ไทยจะได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน (substitution effect)

อีกทั้งการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนในไทยที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัว โดยตั้งแต่ปี 2561 การส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีจากไทยไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากทั้งผลของอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยีของโลกที่เติบโตและการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีไปสหรัฐฯ 32% ของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2560

อย่างไรก็ดี ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อไทย หากสหรัฐฯ เห็นว่าไทยกลายเป็นช่องทางสำหรับจีนในการหลบเลี่ยงกำแพงภาษี โดยเฉพาะในกรณีสินค้าส่งออกที่นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากจีนในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการส่งออกของไทยในอนาคต

3. ภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยจะได้ผลลบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจากการกีดกันทางการค้า

โดยในปี 2566 ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน 30-60% จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง 0.5-2.0% ทั้งนี้ อุปสงค์การนำเข้าสินค้าจากไทยของจีนจะลดลงผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

1) อุปสงค์ต่อสินค้าขั้นสุดท้ายลดลง (final demand effect)
2) อุปสงค์ต่อสินค้าขั้นกลางที่ถูกส่งออกไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง (supply chain effect) เช่น สินค้าในหมวดยางและพลาสติก โลหะ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนเช่นกัน หากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนขยายวงกว้างจนกระทบความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน โดยในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 19.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

4. ภาวะสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยและอาเซียนที่รุนแรงขึ้น (China flooding exports)

จากปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน (overcapacity) สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงปัญหาอุปทานส่วนเกิน ทำให้ไทยและอาเซียนกลายเป็นที่ระบายสินค้าจากจีน ซึ่งหากนโยบายตั้งกำแพงภาษีมีความรุนแรงขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่จีนปรับตัวโดยส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทนสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และจะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตของไทยในระยะถัดไป ซึ่งปัญหาสินค้าจีนทะลักจะส่งผลลบต่อการผลิตและการส่งออกผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่

1) ภาคการผลิตไทยถูกสินค้าจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ โดยหากเปรียบเทียบข้อมูลสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าต่อมูลค่าจำหน่ายของไทยในปี 2559-2561 เทียบกับปี 2566 พบว่า การบริโภคของไทยพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาความต้องการในประเทศอาทิ หมวดโลหะ รถยนต์นั่ง และเฟอร์นิเจอร์

2) การส่งออกไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนให้จีนเพิ่มขึ้น โดยอาเซียนและไทยเสียดุลการค้าให้กับจีนอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยจากการประเมินพบว่า สินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับจีนเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและหมวดเคมีภัณฑ์ สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอาเซียนปรับลดลง แม้ว่าอุปสงค์สินค้าของอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกของจีนไปอาเซียนกลับปรับเพิ่มขึ้นชัดเจน

โดยสรุป ความขัดแย้งทางการค้าโลกจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก แต่ขนาดของผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้จริง และขึ้นอยู่กับการตอบโต้และการปรับตัวของประเทศคู่ค้าด้วย สำหรับไทยจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องผ่านมาทางจีนเป็นหลักเนื่องจากมีความเชื่อมโยงสูงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้หากผลกระทบรุนแรงขึ้นอาจนำไปสู่การลดการจ้างงานในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออก หรือภาคการท่องเที่ยวของไทยอาจไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดไว้ ส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ลดลง ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนและการบริโภคในระยะต่อไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ