“เอ็กซิมแบงก์” เกาะติด 4 ปัจจัยเสี่ยงปี 68 อย่างใกล้ชิด หลัง “ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนโยบายการขึ้นภาษีการค้า-ความผันผวนตลาดการเงิน–ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-ปัญหาหนี้โลกสูง เผยปี 68 เป็นโอกาสส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวแตะ 3%
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค.67 คาดการณ์ว่าการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 68 จะขยายตัว 3.2% เติบโตเท่ากับปี 67 โดยการค้าโลกขยายตัว 3.4% แม้จะมีความพยายามจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่จะควบคุมเงินเฟ้อ แต่ควรระมัดระวังความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงเอ็กซิมแบงก์เกาะติดและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการค้าในปี 68 มี 4 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาภายหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากสงครามการค้า 2.0 ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยทรัมป์ประกาศนโยบาย Make America Great Again จะขึ้นภาษีนำเข้า 10-20% กับทุกประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60-100% การขึ้นภาษีรถนำเข้าจากเม็กซิโก 200% ลดภาษีธุรกิจลงเหลือ 15% จาก 21% คงอัตราภาษีบุคคล 21% ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ลดข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เป็นต้น และอีกหลากหลายนโยบายที่จะตามมาอาจส่งผลให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลง สำหรับไทยแม้จะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้นจากการส่งออกไปทดแทนจีน แต่กลับขาดดุลการค้ากับจีนสูงขึ้นและการเป็นฐานการส่งออกให้กับบริษัทจีนที่ลงทุนในไทยอาจจะถูกสหรัฐฯมองเป็น Supply Chain ของจีนได้
2.ความเสี่ยงจากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง ตลาดคาดการณ์ว่านโยบายของทรัมป์จะทำให้เกิดเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ และเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่มากนัก ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนขึ้นลงตลอดเวลาเหมือนในปี 67 ค่าเงินบาทมีความผันผวนมาก มีการอ่อนค่าและแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
3.ความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ค่าระวางเรือบรรทุกสินค้าก็ยังคงสูงจากการเดินเรือในเส้นทางที่ยาวขึ้นเพื่อความปลอดภัย กดดันให้เงินเฟ้อโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อไป
และ 4.ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้โลกสูง กองทุนไอเอ็มเอฟคาดว่าภายในสิ้นปี 67 หนี้สาธารณะของโลกมีแนวโน้มสูงถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โลก โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯและจีน เป็นแรงกดดันของรัฐบาลทั่วโลกที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ
“ความเสี่ยงทั้ง 4 ปัจจัยนี้เกี่ยวพันกันและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปี 68 ทำให้ต้องระมัดระวัง ต้องนำบริบทความเสี่ยงใหม่ๆเข้ามาอยู่ในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจด้วย แผนธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่น การวางแผนธุรกิจระยะยาวในรูปแบบเดิม 3 ปี หรือ 5 ปี อาจไม่ตอบโจทย์กับภาวะปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่จะสามารถปรับตัวและแข่งขันได้อาจต้องเพิ่มความถี่ในการวางแผนธุรกิจเป็นราย 3 เดือน และจะต้องวางแผนธุรกิจแบบที่เลวร้ายที่สุดไว้ด้วย”
นายรักษ์กล่าวต่อว่า ในมิติความเสี่ยงจากสาเหตุการล้มละลายของภาคธุรกิจ ข้อมูลจาก Atradius องค์กรรับประกันเครดิตการค้าสำคัญของโลก คาดการณ์ว่าอัตราการล้มละลายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 23% ในปี 67 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ประกอบกับการปรับตัวอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 และลดลงเล็กน้อยในปี 68 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยเหล่านี้ช่วยบรรเทาแรงกดดันทางการเงินที่มีต่อบริษัทต่างๆ และทำให้สภาพแวดล้อมการดำเนินงานมีเสถียรภาพมากขึ้น
ส่วนความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออกสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนรับมือ โดยตรวจสอบประวัติของคู่ค้าและใช้บริการประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งมีประโยชน์มากมาย ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมั่นใจที่จะค้าขายกับผู้ซื้อรายใดหรือตลาดใดก็ได้ โดยมีเอ็กซิมแบงก์ช่วยติดตามหนี้จากผู้ซื้อในต่างประเทศเมื่อมีปัญหา รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารได้อีกด้วย
สำหรับความเสี่ยงจากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง เอ็กซิมแบงก์มีเครื่องมือเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1. EXIM Happy Export Credit สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก 3.25% ต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง 2. Happy Foreign Exchange Forward Contract บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ รับ Happy FX Rate โบนัสเพิ่มอีก 3 สตางค์ จองได้สูงสุด 9 สกุลเงินหลัก ให้บริการผู้ส่งออกทั่วประเทศทั้งที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK หรือสถาบันการเงินอื่น โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม
นายรักษ์กล่าวว่า ในอดีตการตัดสินใจทำการค้าการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งมักพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพตลาด เช่น ขนาดตลาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายและกฎระเบียบของประเทศนั้นว่ามีการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศหรือเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่ แต่ในปัจจุบันสมการการค้าการลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีตัวแปรใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ประเทศนั้นต้องเผชิญกับปัญหา เช่น ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่เป็นสกุลหลักในการค้าขายระหว่างประเทศและเงินเฟ้อสูง การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ หรือแม้แต่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค ปัจจัยเหล่านี้ล้วนอยู่เหนือการควบคุม
“การรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้จักการป้องกันความเสี่ยงในมิติต่างประเทศ ซึ่งเอ็กซิมแบงก์ มีเครื่องมือป้องกันและบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมก้าวขึ้นไปแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่