“แผนทั้งหมดนี้ตั้งเป้าหมายทำงานไว้รวมๆ 1 ปี 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.67–มิ.ย.68 เพื่อทำให้สินค้านำเข้าไร้มาตรฐานและนอมินีหมดไปจากประเทศโดยเร็วที่สุด”
ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” ตั้งแต่เดือน ต.ค.67 โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อเร่งแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน และการทำธุรกิจในไทยโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย ธุรกิจไทย และเศรษฐกิจไทย
จากนั้นนายพิชัยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ และ 2.คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อเจาะลึกการแก้ปัญหา ทำให้ ณ วันนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าว มีความคืบหน้าโดยลำดับ
ยอดนำเข้าลด–จับนอมินีอื้อ
โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากกำหนดแผนทำงานแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องไปแล้ว เป็นระยะสั้นที่เริ่มเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 ระยะกลางที่เห็นผลภายใน 6 เดือน และระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พร้อมกำหนดสินค้านำเข้าที่คนไทยจำนวนมากนำเข้าผิดกฎหมาย และไร้มาตรฐาน 3 กลุ่มคือ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนนอมินีก็ได้กำหนดแผนทำงานเป็น 3 ระยะเช่นกัน พร้อมกำหนดธุรกิจเสี่ยง และพื้นที่เป้าหมายที่จะตรวจสอบ ได้แก่ 1.ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และเมืองท่องเที่ยว 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง เน้นพื้นที่เมืองใหญ่ และสอดคล้องกับการท่องเที่ยว 3.ธุรกิจขนส่ง เน้นแนวชายแดนที่สินค้าจะเข้าไทยโดยทางบก 4.ธุรกิจคลังสินค้า เน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการสั่งซื้อออนไลน์ และ 5.ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อน ไปแล้วนั้น
ปรากฏว่า แผนทำงานระยะสั้นมีผลน่าพอใจ เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันป้องกัน ปราบปราม และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมถึงเพิ่มความถี่ตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งซื้อผ่านออนไลน์จากต่างประเทศ จนทำให้การนำเข้าสินค้าไร้มาตรฐานลดลง และจับกุมดำเนินคดีธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนได้จำนวนมาก ข้อมูลล่าสุด ณ ต้นเดือน ธ.ค.67 มูลค่านำเข้าสินค้าลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 2,200 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงก่อนมีมาตรการตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.67 ที่นำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจับกุมดำเนินคดีกับผู้นำเข้า ผู้ค้าสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีกจำนวนมาก โดยการจับกุมดำเนินคดีโดยกรมศุลกากร 12,145 คดี มูลค่า 529 ล้านบาท, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 59 คดี 33 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
(สคบ.) 159 คดี 57 ล้านบาท, กรมทรัพย์สินทางปัญญา 177 คดี 153 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 30,393 รายการ ประเมินความเสียหายไม่ได้
ขณะที่การปราบปรามนอมินี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-4 ธ.ค.67 ดำเนินคดีทั้งหมด 747 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 11,720 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจขนส่งทางบก ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง ฯลฯ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจากหลายชาติ ที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทน ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์ม TEMU ยังจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.67
เดินหน้าลุยแผนระยะกลาง–ยาว
ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างเดินหน้าขับเคลื่อนแผนระยะกลาง และระยะยาว เพื่อกวาดล้างสินค้าไร้มาตรฐานและนอมินีให้หมดไปจากประเทศ โดยจะเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เชื่อมโยงข้อมูล และพัฒนาระบบ AI เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงาน โดยการนำเข้าสินค้าไร้มาตรฐานนั้น กรมศุลกากรจะปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบริหารความเสี่ยงคัดกรองสินค้าที่ผิดกฎหมาย ส่วน อย.จะเพิ่มจำนวนการเก็บตัวอย่างสินค้าเกษตรเพื่อตรวจสารปนเปื้อนเป็น 200 ตัวอย่าง/วัน จัดตั้งห้องปฏิบัติการ ณ ด่านอาหารและยา 4 แห่ง คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับปรุงกฎหมายให้สามารถคืนสินค้าตกมาตรฐานกลับประเทศต้นทาง เฝ้าระวังสินค้าในท้องตลาด
ขณะที่ สมอ.เพิ่มการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็น 3,000 URL/เดือน เพิ่มจำนวนสินค้ามาตรฐานบังคับที่เหลือ 53 มาตรฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มแผนตรวจยึด/จับกุมสินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน ด้านกรมการค้าต่างประเทศ จะเร่งพิจารณาคำขอใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการหลบเลี่ยงการตอบโต้การทุ่มตลาด (AC) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) กับสินค้านำเข้า และระยะยาวจะเร่งผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วน สคบ.ศึกษากฎหมายและวิธีปฏิบัติเพื่อมอบอำนาจให้กรมศุลกากรตรวจสอบสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ให้ต้องมีฉลากภาษาไทย ณ ด่านศุลกากร ปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ในไทยที่มีมูลค่าต่ำต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร นอกจากนี้ จะจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ โดยใช้มาตรการ Notice and Takedown เพื่อขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มนำสินค้าไม่มีมาตรฐาน ไม่ติดฉลากภาษาไทย หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ออกจากแพลตฟอร์ม คาดว่าจะลงนามได้ต้นปี 68 พร้อมกันนั้นจะส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 40% ภายในปี 70 จากปี 66 ที่ 35.2%
ปฏิบัติการกำจัดนอมินีหมดจากไทย
สำหรับแผนปฏิบัติการกวาดล้างนอมินีระยะกลางและยาวนั้น นายนภินทรกล่าวว่า ทุกหน่วยงานยังคงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งตรวจสอบ สอบสวน ดำเนินคดีผู้กระทำผิด พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนความผิดเกี่ยวกับนอมินี นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำลังพัฒนาระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคล (IBAS) เพื่อป้องกันและปราบปรามนอมินี และเพื่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีระบบส่งต่อและเชื่อมโยงข้อมูลป้องปรามนอมินีระหว่างกัน ส่วนระยะยาว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมาย ปปง. เช่น อาชญากรข้ามชาติที่มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัท ที่จะขอจดทะเบียนกับกรมและจะเพิ่มฐานความผิดนอมินี ให้เป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมาย ปปง. เพื่อให้ยึดและอายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดนอมินีได้ด้วย
“แผนทั้งหมดนี้ตั้งเป้าหมายทำงานไว้รวมๆ 1 ปี 9 เดือน เริ่มเดือน ก.ย.67-มิ.ย.68 เพื่อทำให้สินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน และนอมินีหมดไปจากประเทศโดยเร็วที่สุด เพราะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและรายย่อย อีกทั้งยังเป็นการครอบงำธุรกิจไทย สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจไทย คนไทย และเศรษฐกิจไทย”
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้กำหนดแผนตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงนอมินีในปีงบ 68 ด้วย โดยมีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคล 26,830 ราย ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่ง ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ และคลังสินค้า เป็นต้น
ขณะที่บัญชีม้านิติบุคคลนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “ป้องกันและปราบปรามปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคลและการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)” กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้การจดทะเบียนนิติบุคคลรัดกุมขึ้น และตรวจสอบนิติบุคคลที่เสี่ยงต่อการเปิดบัญชีม้าและนอมินี นอกจากนี้ยังร่วมกับ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์” (AOC)
เชื่อมโยงรายชื่อบุคคลเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน ตามรหัส HR-03 ตามประกาศ ปปง. ในกรณีเป็นเจ้าของบัญชีม้านิติบุคคล โดยจะเรียกผู้มีรายชื่อในรหัส HR-03 มาแสดงตนทุกรายก่อนรับจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อตัดวงจรโจรออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่