ตั้งเป้าปี 68 ส่งออกขยายตัว 2-3% “สนค.” วาดฝันปีนี้เติบโต 5.2% ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งเป้าปี 68 ส่งออกขยายตัว 2-3% “สนค.” วาดฝันปีนี้เติบโต 5.2% ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

Date Time: 26 ธ.ค. 2567 09:10 น.

Summary

  • กระทรวงพาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออกของประเทศไทยเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ยังไปต่อโต 8.2% มูลค่าทะลุ 2.56 หมื่นล้านเหรียญ ส่วน 11 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 5.1% ทำให้ตลอดทั้งปีนี้คาดว่าเติบโตได้ 5.2% ทะลุ 10 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

กระทรวงพาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออกของประเทศไทยเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ยังไปต่อโต 8.2% มูลค่าทะลุ 2.56 หมื่นล้านเหรียญ ส่วน 11 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 5.1% ทำให้ตลอดทั้งปีนี้คาดว่าเติบโตได้ 5.2% ทะลุ 10 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง ยันไม่ห่วงขาดดุล เหตุนำมาใช้ในประเทศและผลิตเพื่อส่งออก ส่วนปีหน้า ตั้งเป้าส่งออกเติบโต 2–3%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีอัตราการส่งออกมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (849,069 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 8.2% เทียบกับเดือน พ.ย.2566 ส่วนการนำเข้า 25,832.5 ล้านเหรียญ (867,456.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.9% ดุลการค้าขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญ (18,387.1 ล้านบาท) ขณะที่ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญ (9.695 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การนำเข้า 282,033.3 ล้านเหรียญ (10.032 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.7% ดุลการค้าขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญ (337,096 ล้านบาท)

สำหรับการส่งออกเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 4.1% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นกัน ที่ 7.7% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 9.5% ขณะที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัว ทั้งสหรัฐฯ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) สหภาพยุโรป อินเดีย ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา สหราชอาณาจักร ฯลฯ ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซียและซีไอเอสที่หดตัว

“ปัจจัยหนุนการส่งออกเดือน พ.ย.มาจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับตัวรับมือการค้ารูปแบบใหม่ และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ที่ยังมีอยู่มาก”

สำหรับการส่งออกข้าวไทยเดือน พ.ย.ที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ 20.6% หรือส่งออกได้ 786,263.6 ตัน จากเดือน ต.ค. ที่ส่งออกได้สูงถึง 901,355.3 ตัน เป็นเพราะผู้นำเข้ารายใหญ่ ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ชะลอนำเข้าจากการเร่งนำเข้าช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้สต๊อกมีจำนวนมาก อีกทั้งอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้งตั้งแต่เดือน ต.ค. หลังจากห้ามส่งออก 1 ปี รวมทั้งราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันยาก กรมการค้าต่างประเทศพยายามผลักดันการส่งออกร่วมกับผู้ส่งออก โดยหวังให้ส่งออกได้ 10 ล้านตัน ในปีนี้ จากช่วง 11 เดือนส่งออกได้แล้ว 9.186 ล้านตัน

“ปัญหาขาดดุลการค้า ไม่น่าห่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้า ที่ไทยผลิตไม่ได้ หรือผลิตไม่เพียงพอ และนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก เช่น น้ำมัน ที่มีสัดส่วน 14% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยและสินค้าทุนและวัตุดิบเกือบ 70% ไม่ได้เป็นการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยมากๆ”

ขณะที่แนวโน้มเดือน ธ.ค.คาดว่า ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง หากทำมูลค่าได้ 24,300 ล้านเหรียญ จะทำให้ปีนี้มีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญ หรือทะลุ 10 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง ขยายตัวได้ 5.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 หลังจากปี 2565 ที่ทำได้สูงสุด 287,400 ล้านเหรียญ

ขณะที่ปีหน้า จากการหารือกับภาคเอกชน และทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำในประเทศต่างๆ ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าขยายตัวไว้ที่ 2-3% ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

“เรื่องมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว โดย รมว.พาณิชย์มีกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐฯเดือน ก.พ.ปีหน้า เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจว่า การที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯมาจากการส่งออกสินค้าของนักลงทุนสหรัฐฯที่ลงทุนในไทย หากสหรัฐฯเก็บภาษีไทย ก็เท่ากับว่าเก็บภาษีจากผู้ส่งออกสหรัฐฯ คาดว่า สหรัฐฯจะเข้าใจเรื่องนี้ ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรวม 2% สนค.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า เพื่อการส่งออกและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายในประเทศหรือไม่ อย่างไร”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ