ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีข่าวลือตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 24 ธ.ค.2567 ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ได้ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แม้ไม่ได้รับเงินเดือนแต่ตำแหน่งนี้เท่ากับตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ผู้สื่อข่าวได้พยายามตามหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว
โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอน ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า คาดว่าจะได้รับหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาภายใน 1-2 วันนี้ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับเช่นกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ธ.ค.ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามกับนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในกรณีดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังอยู่ระหว่างการหารือ และยังไม่มีข้อสรุปใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคาดว่า จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค. นี้ เพื่อหาข้อสรุป โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ทำหนังสือสอบถามมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานบอร์ด ธปท. โดยสำนักงานได้นำเข้าหารือในคณะกรรมการร่วม 3 คณะ คือ คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) และคณะที่ 3 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) เพราะกรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
“ไม่รู้ว่ามีข่าวออกมาได้อย่างไรว่า กฤษฎีกามีมติแล้ว เพราะคณะกรรมการร่วมยังนัดประชุมกันในช่วงเช้าวันที่ 24 ธ.ค. และคงไม่น่าจะมีรั่วออกมาจากในห้องประชุมเด็ดขาด และจะนัดประชุมกันอีกในวันที่ 25 ธ.ค. ก็น่าจะเสร็จสิ้น โดยจะพยายามทำให้เร็วก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งประเด็นสำคัญจะพิจารณานั้น จากการสอบถามความเห็นของคลังมี 2 ประเด็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ คือตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย”
“ส่วนตัวเห็นว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยตั้งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งจะต้องไปดูว่า มีพฤติกรรม หรือการกระทำอะไรที่มีลักษณะยุ่งเกี่ยวกับทางนโยบายหรือไม่ แต่โดยทั่วไปตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เรียกง่ายๆว่า มีไว้แค่พิมพ์นามบัตรเฉยๆ”
ส่วนกรณีที่จะตีความว่า เป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์ยอมรับว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง คือข้าราชการการเมืองและผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกัน โดยข้าราชการการเมือง เป็นการเมืองแน่ๆอยู่แล้ว ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาของทั่วไป ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียด และต้องตีความกันอีกครั้งว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
สำหรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ จะเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น เลขาฯกฤษฎีกา กล่าวว่า โดยส่วนตัวต้องไปดูถึงการทำงานด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องดูรายละเอียด เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากถ้อยคำที่เขียนไว้ ทั้งนี้ เมื่อคลังถามมา กฤษฎีกาก็ตอบตามคำถามที่ถามมาว่าตำแหน่งทั้งสองนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งจะต้องถามผู้แทนในห้องประชุมก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดจะต้องสรุปให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาต่อเนื่องไปถึง ธปท.ได้
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะการแต่งตั้งบุคคลนั้น ส่งผลให้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลทางการเมืองมาก ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตรวจซ้ำซ้อนหลายๆครั้ง เพื่อความแน่ใจ โดยเฉพาะข้าราชการทางการเมืองตรวจซ้ำถึง 14 หน่วยงาน เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ซ้ำรอยอีก”
ขณะที่นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาฯยังไม่ได้รับหนังสือการตีความจากกฤษฎีกา จึงต้องสอบถามไปยังกระทรวงคลัง โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่มีส่วนรับผิดชอบ หากกฤษฎีกาจะตีความว่านายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติ เพราะการคัดเลือกนั้นเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และการตีความของกฤษฎีกาฉบับเดิม และเมื่อกระทรวงการคลังไม่แน่ใจและได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความใหม่ จึงต้องรอหนังสือตอบจากกฤษฎีกา ขณะนี้ผมตอบอะไรไม่ได้
ด้านนายกิตติรัตน์โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมไม่มีอะไรค้างคาใจ ผมได้อาสาทำงานให้ประเทศแล้ว ไม่เคยขลาดกลัวหนีหายเอาตัวรอด กราบขอบพระคุณท่านปลัดกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าผมจะทำหน้าที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดีจนเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก และกราบขอบพระคุณกรรมการคัดเลือกเสียงข้างมากที่มีมติคัดเลือกผม เพื่อนำสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังส่วนการพิจารณาใดๆจากขั้นตอนดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้พิจารณา ผมเคารพการตัดสินใจครับ