ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เปรียบได้กับงูที่ใส่เกียร์เดินหน้า เลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจ จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับความท้าทาย แม้จะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก สำนักวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.7%
1. การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นจุดเด่น จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากตลาดยุโรปและเอเชีย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแตะ 39.1 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 35.6 ล้านคนในปี 2567 แต่ยังต่ำกว่าจำนวน 39.9 ล้านคนในปี 2562 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่ถึงระดับก่อนโควิด แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลเชิงบวกต่อโรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว รวมถึงที่พักสไตล์บูติก ขณะที่โรงแรมระดับ 3 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจะยังฟื้นตัวช้ากว่า
2. โครงการแจกเงินจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนและลดภาระค่าครองชีพมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 โดยเฉพาะในภาคบริการและสินค้าไม่คงทน
3. การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และแบตเตอรี่ โดยได้รับแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิตและโอกาสใหม่ในอาเซียน นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและพลังงานจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมในภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอาจยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน รวมถึงต้องรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการจีน
แม้ว่าจะมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อาทิ กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา
1. กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ
โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากภาคการเกษตร ยังคงเผชิญกับความยากลำบาก จากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจำกัดความสามารถในการใช้จ่าย แม้รัฐบาลจะมีโครงการโอนเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ตาม
2. การส่งออกยังคงฟื้นตัวช้า
โดยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าโลกและความต้องการที่ลดลงจากตลาดสำคัญ เช่น จีนและอาเซียน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการค้าโดยรวม
3. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา โครงการก่อสร้างใหม่มีจำกัด การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องลดลง โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งความต้องการยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ปี 2568 อาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้การคาดการณ์เป็นเรื่องยาก นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านปีนี้ไปได้อย่างราบรื่น ในที่นี้ ขอใช้สัญลักษณ์ของเกียร์อัตโนมัติ (PRND) ที่แสดงถึงแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ดังนี้
1. การหยุดชะงักของโลกาภิวัตน์ (Pause Globalization) ทรัมป์อาจพิจารณาการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อลดการขาดดุลการค้าในประเทศกับคู่ค้าการค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป และจีน ภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อาจทำให้การค้าและการลงทุนทั่วโลกหยุดชะงักได้ และอาจทำให้โลกาภิวัตน์สะดุดลง การดำเนินมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก
2. การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reverse Reshoring) ทรัมป์ต้องการนำงานในภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ เดิมทรัมป์ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศพันธมิตร หรือ "friend-shoring" แต่ระยะถัดไปทรัมป์น่าจะมุ่งเป้าหมายไปที่การนำงานมูลค่าสูงกลับเข้าสู่สหรัฐฯ โดยตรง เพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ และลดการพึ่งพาจีน แม้การย้ายโรงงานมายังสหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนแรงงานที่สูงจนกระทบความสามารถในการแข่งขัน เราเชื่อว่าทรัมป์จะเสนอลดภาษีนิติบุคคลเพื่อจูงใจธุรกิจ และกำหนดอัตราภาษีสูงเพื่อลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม
3. การใช้จ่ายที่นิ่ง (Neutral Spending) แม้ทรัมป์วางแผนลดภาษี แต่ไม่มีแผนลดการใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากนโยบายควบคุมการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งอาจกดดันเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐฯ มาตรการทางการคลังเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจสร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดหาเงินทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายความว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยและบริษัทในประเทศอาจเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
4. การขับเคลื่อนการลดค่าเงินดอลลาร์ (Driving Dollar Devaluation) แม้เราคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่า แต่ทรัมป์อาจพลิกมุมมองนี้ด้วยการดำเนินนโยบายลดค่าเงินดอลลาร์ ที่ผ่านมา เขาได้ตรวจสอบแนวทางการค้าของคู่ค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าบางประเทศมีการแทรกแซงค่าเงินและขู่จะเก็บภาษีตอบโต้ ทรัมป์อาจมองว่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าจำนวนมาก มุมมองนี้อาจนำไปสู่การดำเนินกลยุทธ์คล้ายกับ Plaza Accord ในปี 2528 โดยกดดันประเทศผู้ส่งออกสำคัญให้ปรับค่าเงินให้แข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney